ปภ.ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนอง ในช่วงวันที่ 7 – 13 มิถุนายน 2560

ข่าวทั่วไป Friday June 9, 2017 18:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักในช่วงวันที่ 7 – 13 มิถุนายน 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ ช่วงที่มีการระบายน้ำออกจากแหล่งกักเก็บน้ำ และช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 7 – 10 มิถุนายน 2560 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ คลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยส่งผลกระทบต่อพื้นที่ต่างๆ แยกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ในช่วงวันที่ 7 – 10 มิถุนายน 2560 ภาคเหนือ ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ ภาคตะวันออกรวมทั้งชายฝั่ง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80ของพื้นที่ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 - 80 ของพื้นที่ ส่วนช่วงวันที่ 10 – 13 มิถุนายน 2560 ประเทศไทยจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองทั่วทุกภาค แยกเป็น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 – 40ของพื้นที่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกรวมทั้งชายฝั่ง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 – 30 ของพื้นที่ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนองในช่วงวันที่ 7 – 13 พฤษภาคม 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่มิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะกรณีฝนตกหนักต่อเนื่อง มีปริมาณน้ำฝนสะสม90 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง กรณีที่มีการระบายน้ำออกจากแหล่งกักเก็บน้ำ และช่วงเวลาที่มีน้ำทะเลหนุนสูง ให้จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก โดยติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ทั้งการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย การปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยกรณีอาศัยในพื้นที่น้ำท่วมขังและกรณีต้องอพยพออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะฝนตกหนัก สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ