ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูลรวมตัวเปิด “ร้านคนจับปลา” ไม่ง้อคนกลาง-สร้างทางเลือกใหม่ในการขายผลผลิตตรงสู่ผู้บริโภค

ข่าวทั่วไป Tuesday July 11, 2017 14:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับชาวประมงพื้นบ้าน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านปากบารา บ้านตะโละใส และบ้านท่ามาลับ ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล จัดทำ "โครงการร้านคนจับปลาสตูล" เพื่อผลิตและแปรรูปสินค้าของตนเอง ผ่านการดำเนินงานของ "ร้านคนจับปลา" เพื่อแก้ปัญหาการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง และสามารถจำหน่ายผลผลิตโดยตรงให้ผู้บริโภคได้ในราคาที่ยุติธรรม ฮาสานะห์ เกะมาซอ คณะกรรมการร้านคนจับปลา เล่าว่า เป้าหมายหลักของร้านคนจับปลาก็เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการผลผลิตของประมงพื้นบ้าน ซึ่งจะต้องทำประมงอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อผู้บริโภค โดยไม่ใช้เครื่องมือประมงอย่างผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันก็สร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้ซื้อสัตว์น้ำที่สด สะอาด ปลอดภัย รู้แหล่งที่มาจากประมงพื้นบ้านโดยตรง ผู้บริโภคก็จะเข้าใจว่าฤดูไหนมีสัตว์น้ำประเภทไหน พร้อมกับการกระตุ้นเตือนจิตสำนึกในการปกป้องแหล่งอาหารทะเลไปด้วย "ผลผลิตของกลุ่มประมงพื้นบ้านมีพวกปลาต่างๆ เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาอินทรีย์ ปลาน้ำดอกไม้ กุ้งแชบ๊วย หมึกหอม หมึกกระดองฯลฯ ซึ่งจะจับได้ตามฤดูกาล เราจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าแพปลาร้อยละ 10-20 โดยจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจัดการผลผลิตให้ชาวประมง กำไรที่ได้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกร้อยละ 50 เป็นต้นทุนหมุนเวียนในร้าน อีกร้อยละ 30 เป็นเงินปันผลของสมาชิกผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้ง และอีกร้อยละ 20 นำไปสนับสนุนงานอนุรักษ์ เช่น การสร้างบ้านปลา ธนาคารปู" ฮาสานะห์ อธิบาย ซึ่งการดำเนินงานของร้านคนจับปลายังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ สมาคมชาวประมงสตูล ศูนย์วิจัยประมงชายฝั่งสตูล องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำให้การสนับสนุนโรงเรือน สำนักงานเกษตรอำเภอละงูสนับสนุนอุปกรณ์จัดเก็บสัตว์น้ำ โดยร้านคนจับปลาอยู่ระหว่างขยายการรับซื้อผลผลิตสัตว์น้ำจากแหล่งผลิตในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัด และกำลังอยู่ระหว่างการขอใบรับรองมาตรฐานอาหารทะเลปลอดภัย จากสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น การเกิดขึ้นของร้านคนจับปลาได้สร้างทางเลือกใหม่ที่ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจำหน่ายผลผลิตได้โดยตรงสู่ผู้บริโภคในราคาที่ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย และผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยทำเศรษฐกิจของชุมขนมีความแข็งแกร่งแล้ว ยังก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ