ปภ.นำระบบบัญชาการเหตุการณ์เป็นเครื่องมือการจัดการในภาวะฉุกเฉิน...มุ่งลดความสูญเสีย – สร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่เจ้าหน้าที่และผู้ประสบภัย

ข่าวทั่วไป Thursday July 13, 2017 11:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System: ICS) มาเป็นเครื่องมือสำคัญและแนวทางปฏิบัติในการจัดการในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหารจัดการ สั่งการ และแก้ไขปัญหาสาธารณภัย รวมถึงประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานมีความสอดคล้อง เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยสูงสุด และควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดภาวะฉุกเฉิน การจัดการสาธารณภัยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภัยและระยะเวลาในการจัดการที่จำกัด ประกอบกับมีการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงาน เพื่อให้การปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในวงจำกัด รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการการจัดการภาวะฉุกเฉินที่มีเอกภาพ ภายใต้รูปแบบที่มีมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้นำระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System: ICS) มาเป็นเครื่องมือสำคัญและแนวทางปฏิบัติในการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 โดยกำหนดให้ใช้ระบบบัญชาการเหตุการณ์เป็นระบบมาตรฐานในการจัดการในภาวะฉุกเฉินของประเทศไทย เพื่อสั่งการ ควบคุม ประสานความร่วมมือ มอบหมายภารกิจ รวมถึงระดมทรัพยากรไปยังพื้นที่เกิดเหตุ ตลอดจนการบูรณาการการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงาน เพื่อจัดการเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภัยทุกประเภทอย่างมีมาตรฐาน โดยผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการร่วมกัน รวมถึงเชื่อมต่อพื้นที่และภารกิจระหว่างกันได้ในทันที ภายใต้กระบวนการ และขั้นตอนการปฏิบัติที่มีมาตรฐาน และกรอบการปฏิบัติงานเดียวกัน อีกทั้งโครงสร้างองค์กรมีความยืดหยุ่นสามารถปรับโครงสร้างให้เข้ากับสถานการณ์ในทุกประเภทภัยและทุกระดับความรุนแรง ส่งผลให้การจัดการในภาวะฉุกเฉินมีประสิทธิภาพและเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน โดยรูปแบบโครงสร้างการบัญชาการ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้ 1.การบัญชาการเหตุการณ์โดยผู้บัญชาการเหตุการณ์คนเดียว (Single Incident Command) เป็นโครงสร้างการบัญชาการพื้นฐานที่มีผู้บัญชาการเหตุการณ์คนเดียว เมื่อเกิดสาธารณภัยในระดับพื้นที่ที่มีผู้รับผิดชอบชัดเจน ไม่มีความซ้ำซ้อนทางระเบียบ กฎหมาย และสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งจะก่อให้เกิดเอกภาพในการสั่งการและประสานการปฏิบัติงาน รวมถึงการมอบหมายภารกิจในการเผชิญเหตุให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน 2.การบัญชาการแบบรวมศูนย์ (Unified Command) เป็นการจัดการเหตุการณ์ที่มีหน่วยงานตั้งแต่ 2 หน่วยงานขึ้นไป ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบตามที่กฎหมายกำหนด กรณีเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ที่ทับซ้อน แม้จะมีผู้บัญชาการเหตุการณ์ร่วมได้หลายคน แต่มีแนวทางการปฏิบัติ และการประสานงานร่วมกัน ภายใต้โครงสร้างองค์กรเดียวที่มีเอกภาพในการบังคับบัญชา โดยระบบบัญชาการเหตุการณ์สามารถใช้ได้กับการจัดการในภาวะฉุกเฉินทุกรูปแบบ ทุกประเภทภัย และทุกระดับความรุนแรง จึงช่วยเสริมสร้างการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ อีกทั้งการมีแนวทางการปฏิบัติงานที่มีเอกภาพ ทำให้การแบ่งมอบภารกิจมีความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้ในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับโครงสร้างองค์กรการจัดการในภาวะฉุกเฉินที่มีความยืดหยุ่น เน้นการปฏิบัติงานที่มีความรวดเร็ว ท่ามกลางภาวะความกดดันและการเปลี่ยนแปลงตามความรุนแรงของสถานการณ์ภัย ทำให้การสั่งการ ควบคุม และการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำระบบ การบัญชาการณ์เหตุการณ์มาใช้ในการจัดการในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหารจัดการ สั่งการ และแก้ไขปัญหาสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยสูงสุด และควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ