ปภ.ขับเคลื่อนการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยภายใต้กรอบเซนไดฯ สร้างประเทศไทย “รู้รับ ปรับตัว ฟื้นเร็วทั่ว อย่างยั่งยืน (Resilience)”

ข่าวทั่วไป Thursday July 13, 2017 11:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อนกรอบเซนไดฯ โดยเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบเซนไดฯ และผลักดันการนำหลักการและแนวคิด "การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ" ผนวกเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการพัฒนาประเทศ พร้อมแต่งตั้งผู้ประสานงานหลักด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ทั้งระดับกระทรวง กรม จังหวัด และคณะทำงานย่อยในการทำงานร่วมกับหน่วยงานและผู้ประสานงานหลัก รวมถึงปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยแห่งชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560 - 2564) ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย อีกทั้งพัฒนาระบบการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศ เพื่อสร้างประเทศไทยให้มีศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญในการสร้างประเทศไทยให้ "รู้รับ ปรับตัว ฟื้นเร็วทั่ว อย่างยั่งยืน (Resilience)" นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สาธารณภัยไม่ได้สร้างความสูญเสียเฉพาะประเทศที่เกิดเท่านั้น หากแต่ส่งผลกระทบกับประเทศอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม การส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระหว่างประเทศ ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการสาธารณภัยของประเทศ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการจัดการสาธารณภัยของประเทศให้มีมาตรฐานสากล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยได้ร่วมรับรองกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ.2558 – 2573 ในการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14 – 18 มีนาคม 2558 ณ เมืองเซนไดประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้บูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อนกรอบเซนไดฯ ภายใต้พันธกิจหลัก 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.เข้าใจความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 2.เสริมสร้างศักยภาพในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติในทุกระดับ 3.ส่งเสริมการลงทุนด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 4.พัฒนาศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งมุ่งป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงใหม่และลดความเสี่ยงเดิม โดยมีความคืบหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้ 1.ด้านการบูรณาการการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสู่การดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ได้เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบเซนไดฯ โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงของกรอบเซนไดฯ กับนโยบายการพัฒนาประเทศ รวมถึงจัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ พร้อมเชื่อมโยงกรอบเซนไดฯ กับแผนพัฒนาประเทศ โดยบรรจุเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงนำหลักการและแนวคิดตามกรอบเซนไดฯ "การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ" เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 2.ด้านการกำหนดกลไกการขับเคลื่อนกรอบการดำเนินงานเซนไดฯ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย โดยแต่งตั้งผู้ประสานงานหลักด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (DRR Focal Point) ทั้งระดับกระทรวง กรม รวม 23 แห่ง ผู้ประสานงานระดับจังหวัด (รองผู้ว่าราชการจังหวัด) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมถึงคณะทำงานย่อยในการทำงานร่วมกับหน่วยงานและผู้ประสานงานหลักในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 3.ด้านการมีระบบสนับสนุนการดำเนินงานและติดตามผลความคืบหน้าการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติตามกรอบเซนไดฯ โดยปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยแห่งชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560 - 2564) ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย อีกทั้งพัฒนาระบบการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือSustainable Development Goals (SDGs) ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ภายใต้กรอบการดำเนินงานเซนไดฯ เพื่อสร้างประเทศไทยให้มีศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญในการสร้างประเทศไทยให้ "รู้รับ ปรับตัว ฟื้นเร็วทั่ว อย่างยั่งยืน (Resilience)"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ