กทม.สร้างสวนชานบ้านต้นแบบแห่งแรกจะเสร็จปลายเดือนนี้

ข่าวทั่วไป Wednesday August 16, 2000 10:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--กทม.
กทม. สร้างมินิ ปาร์ค หรือสวนชานบ้าน แห่งแรกในพื้นที่ของหมู่บ้านคลองพลับพลา เขตวังทองหลาง ใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ กทม. สร้างมินิ ปาร์ค หรือสวนชานบ้าน แห่งแรกในพื้นที่ของหมู่บ้านคลองพลับพลา เขตวังทองหลาง ใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ โดยจะเป็นสวนต้นแบบ และกำหนดแล้วเสร็จปลายเดือนนี้
นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้นโยบายในการลดมลภาวะในกรุงเทพมหานครอย่างชัดเจนว่า จะต้องเร่งเพิ่มปริมาณต้นไม้และพื้นที่สีเขียวโดยต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่เขตชั้นในที่หาพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ยากจะพัฒนาพื้นที่ทางเท้าที่กว้างกว่า 3 เมตร ขึ้นไปให้เป็นสวนถนนเพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสต้นไม้และสวนทันทีที่ก้าวออกจากอาคาร และยังแสวงหาที่ดินทั้งของรัฐและเอกชนที่ปล่อยทิ้งว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ นำมาจัดทำเป็น “สวนชานบ้าน” (MINI PARK) เพิ่มเติมอีกด้วย โดยที่ดินดังกล่าวถ้าเป็นของเอกชน กทม. จะขอเช่า เพื่อนำมาพัฒนาเป็นสวนและสถานที่ออกกำลังกายตามสภาพ ขณะนี้มีที่ดินทั้งของรัฐและเอกชนที่รวบรวมได้แล้วกว่า 800 ไร่ ซึ่งจะสำรวจออกแบบต่อไปโดยเร็ว สำหรับ “สวนชานบ้าน” ต้นแบบกำลังเร่งก่อสร้างในพื้นที่ของหมู่บ้านคลองพลับพลา เขตวังทองหลาง พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ คาดว่าจะเปิดใช้ได้ประมาณปลายเดือนสิงหาคมนี้
นายอนันต์ กล่าวต่อไปว่า สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ย่านชานเมือง เช่น สวนน้ำบึงหนองบอนเนื้อที่ 650 ไร่ จะพัฒนาเป็นสวนและศูนย์กีฬาทางน้ำ (Water Sport Center) แห่งแรกของกรุงเทพมหานคร สวนภูเขารามอินทรา เนื้อที่ 52 ไร่ จะพัฒนาเป็นสวนภูเขา ศูนย์กีฬา และสวนสุขภาพ โดยจะให้ประชาชนในละแวกใกล้เคียงกับสวนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและกำหนดประโยชน์ใช้สอยด้วย นอกจากนี้ยังมีสวนเกียกกาย สวนสนามหลวง 2 ที่กำลังเร่งออกแบบเพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะอยู่อย่างรีบเร่ง
นายอนันต์ กล่าวในที่สุดว่า กรุงเทพมหานครจะสนองแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานไว้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา อย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เมืองมีชีวิตมีสีสันและน่าอยู่ รวมทั้งจะดำเนินโครงการ “แมกไม้มิ่งเมือง” เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมปลูกต้นไม้ในเขตเมืองต่อไป โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครจาก 1.5 ตารางเมตร เป็น 2.5 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ให้ได้ภายใน 4 ปี เชื่อว่าเมื่อถึงเวลานี้กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองแห่งความสุข น่าอยู่อาศัย น่าทำงาน และน่าท่องเที่ยวอย่างแน่นอน--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ