“คอมแพคแฟมมิลี่” บ้านรักษ์โลก มทร.ธัญบุรี

ข่าวทั่วไป Monday July 17, 2017 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--มทร.ธัญบุรี ผลงาน "COMPACT FAMILY HOUSE" ของ "บูม" นางสาวกุลจิรา อธิเศรษฐ์ และ "วุฒิ" นายเสฎฐวุฒิ พันธุมะโอภาส นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หนึ่งในผลงานกว่า 60 ผลงาน คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทแบบบ้านไม่เกิน 2 ล้านบาท โครงการประกวดออกแบบบ้านรักษ์โลก จัดโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ การออกแบบบ้านโครงการประกวดแบบ "บ้านรักษ์โลก" เพื่อค้นหาสุดยอดนิสิตนักศึกษาจากทั่วประเทศที่มุ่งเน้นผลงานการออกแบบบ้านภายใต้แนวคิด "ประหยัดเงิน ประหยัดพลังงาน ด้วยบ้านรักษ์โลก" "บูม" นางสาวกุลจิรา อธิเศรษฐ์ เล่าว่า เมื่อได้ทราบแนวคิดในการประกวดครั้งนี้ "ประหยัดเงิน ประหยัดพลังงาน ด้วยบ้านรักษ์โลก" จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูล โดยการศึกษาองค์ประกอบรูปแบบบ้าน พบว่ารูปแบบบ้านเรือนไทยมีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับคนไทยมากที่สุด โดยจับกลุ่มผู้ใช้อาคารที่ร่วมโครงการธอส.เป็นหลัก จึงได้นำมาเป็นแนวคิด "คอมแพคแฟมมิลี่" ความกลมกลืนของครอบครัวทุกช่วงวัย ซึ่งมุ่งเน้นออกแบบเพื่อสามองค์ประกอบหลักคือ 1.simple space - ผู้ใหญ่ 2.one space - ผู้สูงอายุ 3.split space - เด็ก โดยออกแบบพื้นที่ทั้งหมดภายใต้กรอบของเรือนไทยและภาวะน่าสบายนั่นเอง 1.ผู้ใหญ่-การมีพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน หรือร่วมกัน 2.ผู้สูงอายุ-กิจกรรมที่ครบวงจรของบ้านในชั้นเดียว หรือต่างระดับน้อย เพื่อลดทอนปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงวัย 3.เด็ก-พลังที่ล้นเหลือของวัยนี้ที่ต้องการพื้นที่เล่นแม้แต่ในบ้าน เกิดเป็นพื้นที่ทางสัญจรที่เอื้อต่อความสนุก การเชื่อมต่อของกิจกรรมแต่ละพื้นที่อย่างลื่นไหล "วุฒิ" นายเสฎฐวุฒิ พันธุมะโอภาส เล่าเพิ่มเติมว่า "ประหยัดเงิน ประหยัดพลังงาน" แนวคิดในการออกแบบบ้าน พยายามออกแบบตัวบ้านโดยการนำแสงธรรมชาติเข้ามาในบ้านให้มากที่สุด โดยมีช่องเปิดแสงมีระแนงบัง ซึ่งเรียกว่าปรากฏการณ์แสงอินไดเล็ก การออกแบบผนังเกล็ดระบายอากาศใต้หลังคา การทำช่องเปิดระบายอากาศเหนือฝ้าเพดานจนถึงหลังคา จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายอากาศได้ดีขึ้น ฝ้าชายคาระบายความร้อนใต้หลังคา การทำฝ้าชายคาให้มีรูระบายอากาศช่วยให้มีการถ่ายเทความร้อน รวมทั้งลดการสะสมความร้อนและควรมีการติดตั้งตาข่ายกันแมลงด้วย ที่สำคัญมีการปูฉนวนกันความร้อนเหนือฝ้าเพดานจะช่วยกันความร้อนจากชั้นหลังคาไม่ให้ส่งผ่านมาภายในบ้าน ถือเป็นบ้านรักษ์โลก ที่เหมาะกับภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ต้องขอชื่นชมในแนวคิดว่าที่สถาปนิกในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ