ปภ.แนะผู้ขับขี่ปรับเบาะนั่ง และจัดท่านั่งถูกวิธี...เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

ข่าวทั่วไป Saturday July 22, 2017 15:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการปรับเบาะนั่ง และจัดท่านั่ง โดยปรับเบาะนั่ง และจัดท่านั่งให้เหมาะสม เว้นระยะห่างจากพวงมาลัยประมาณ 1 ช่วงแขน งอแขนเล็กน้อย ไม่ตึงเกินไป ปรับพนักพิงในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่อยู่ในลักษณะเอนหลังกึ่งนอนขับ หรือชิดพวงมาลัยมากเกินไป ปรับหมอนรองให้พอดีกับศีรษะ โดยอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางและใกล้ศีรษะของผู้ขับขี่ให้มากที่สุด เพื่อให้มองเห็นเส้นทาง ได้อย่างชัดเจน รวมถึงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะช่วยไม่ให้ศีรษะสะบัดไปด้านหลังอย่างแรง และยังช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรง หรือเสียชีวิตกรณีประสบอุบัติเหตุ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การปรับเบาะนั่ง และจัดท่านั่งอย่างถูกต้อง ส่งผลให้ผู้ขับขี่มีทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางชัดเจน สามารถบังคับและควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการปรับเบาะนั่ง และจัดท่านั่ง ดังนี้ ปรับเบาะนั่งและจัดท่านั่งให้เหมาะสม โดยเว้นระยะห่าง จากพวงมาลัยประมาณ 1 ช่วงแขน แขนงอเล็กน้อย ไม่ตึงเกินไป จะช่วยให้สามารถบังคับพวงมาลัยได้อย่างคล่องตัว นั่งในลักษณะกึ่งงอขา ไม่เหยียดตรง เพื่อให้ฝ่าเท้าสามารถเหยียบแป้นเบรก คลัตช์ และคันเร่งได้ถนัด แผ่นหลังแนบชิดพนักพิง ไม่ปรับเบาะนั่งสูงหรือต่ำเกินไป เพื่อให้สามารถมองเห็นเส้นทางและแผงหน้าปัดรถได้อย่างชัดเจน ปรับพนักพิงในตำแหน่ง ที่เหมาะสม ไม่อยู่ในลักษณะเอนหลังกึ่งนอนขับ หรือชิดพวงมาลัยมากเกินไป พร้อมปรับให้ช่วงเอวกระชับพนักพิง และอยู่ในระยะที่งอข้อศอกได้เล็กน้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับพวงมาลัย เหยียบแป้นเบรก คลัตช์ และคันเร่ง รวมถึงทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางผ่านกระจกข้าง และกระจกมองหลังชัดเจนขึ้น ปรับหมอนรองให้พอดีศีรษะ โดยอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลาง และใกล้ศีรษะของผู้ขับมากที่สุด ขอบบนของหมอนรองศีรษะควรอยู่ในระดับเดียวกับใบหูด้านบน เพื่อให้มองเห็นเส้นทางได้อย่างชัดเจน รวมถึงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะช่วยรองรับแรงกระแทก และลดแรงเหวี่ยงไม่ให้ศีรษะ สะบัดไปด้านหลังอย่างแรง ผู้ขับขี่สามารถตรวจสอบตำแหน่งการปรับพนักพิงที่เหมาะสม โดยวางมือไว้บริเวณบนสุด ของพวงมาลัย หากพวงมาลัยอยู่เลยกลางฝ่ามือ หรือบริเวณโคนนิ้ว แสดงว่าปรับพนักพิงเอนมากเกินไป และหากพวงมาลัย อยู่ชิดเลยข้อมือเข้ามา แสดงว่านั่งชิดมากเกินไป ทั้งนี้ การปรับเบาะนั่ง การจัดท่านั่งให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และเหมาะสม นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่แล้ว ยังช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรง หรือเสียชีวิตกรณีประสบอุบัติเหตุด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ