ปภ.พัฒนานวัตกรรมและส่งเสริมการวิจัย – ยกระดับการจัดการสาธารณภัยของประเทศ

ข่าวทั่วไป Saturday July 22, 2017 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับสถาบันการศึกษาพัฒนาต้นแบบรถสาธิตแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว เพื่อเป็นสื่อต้นแบบส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว และรถเอทีวีพร้อมเปลอัตโนมัติต้นแบบ สำหรับเป็นรถเอทีวีต้นแบบใช้ในการกู้ภัย ลำเลียง และเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่เกิดเหตุ ที่คับแคบ ทุรกันดาร และมีความยากลำบากในการเข้าถึงพื้นที่ ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการการบริหารจัดการสาธารณภัย ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติแล้ว ยังช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐในการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์จากต่างประเทศอีกทางหนึ่ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า การพัฒนานวัตกรรมและการวิจัย ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 โดยเฉพาะการสร้างประเทศไทยให้มีความปลอดภัยจากภัยพิบัติ จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยด้านการจัดการสาธารณภัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมถึงการเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมและส่งเสริมงานวิจัย เพื่อพัฒนาศักยภาพในการจัดการสาธารณภัยของประเทศไทย โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาดำเนินการศึกษาและพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมที่สามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องมืออุปกรณ์สนับสนุนงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ รถสาธิตแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว (Mobile Earthquake Simulation Car) ซึ่งเป็นรถสาธิตต้นแบบคันแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำรถ 6 ล้อ ขนาด 6 ตัน มาติดตั้งระบบไฮดรอลิก จำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวด้วยระบบสั่นสะเทือน ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถสั่นสะเทือนสูงสุดได้ที่ระดับ 8 แมกนิจูด ซึ่งผ่านการตรวจสอบค่าการสั่นสะเทือนที่ใกล้เคียงกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากกรมทรัพยากรธรณี ถือเป็นสื่อต้นแบบส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว ตามหลัก "หมอบ ป้อง เกาะ" ภายใต้การจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวเสมือนจริงให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้พัฒนารถเอทีวีพร้อมเปลอัตโนมัติต้นแบบ (Innovation project of prototype's ATV Vehicle with automatic stretcher) ซึ่งเป็นรถเอทีวีพร้อมเปลอัตโนมัติต้นแบบด้านการกู้ภัยคันแรกในประเทศไทย โดยนำรถเอทีวีมาติดตั้งอุปกรณ์เสริมรองรับการกู้ภัยให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ ระบบ ส่วนพ่วงท้ายในรูปแบบเปลขนย้ายผู้บาดเจ็บ ซึ่งสามารถพับเก็บและกางออกได้อัตโนมัติ พร้อมที่นั่งสำหรับผู้ดูแลและ เข็มขัดนิรภัยในส่วนเปลขนย้าย สำหรับใช้ในการกู้ภัย ลำเลียง และเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่เกิดเหตุที่คับแคบ ทุรกันดาร และมีความยากลำบากในการเข้าถึงพื้นที่ ทำให้สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นได้ด้วยความปลอดภัย อีกทั้งสามารถใช้ในการขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงเป็นยานพาหนะในการเข้าไปติดตั้งและตรวจวัดค่าอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ทำให้การแจ้งเตือนภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่ นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า การศึกษาและพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมที่สามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องมืออุปกรณ์สนับสนุนงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถือเป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสาธารณภัย ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติแล้ว ยังช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐในการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์จากต่างประเทศอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมและส่งเสริม การวิจัยด้านการจัดการสาธารณภัย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและยกระดับกลไกการจัดการ สาธารณภัยของประเทศสู่มาตรฐานสากล สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลตามนโยบาย Thailand 4.0 นำพาประเทศไปสู่ความ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ