สพร. จับมือ 9 หน่วยงาน รุกเปิดตัวสื่อการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ สำหรับปฐมวัยถึงอุดมศึกษา พร้อมตั้งเป้าขยายผลสู่การศึกษาในระบบ

ข่าวทั่วไป Wednesday August 9, 2017 17:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สพร. ผนึกกำลังบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์ จัด ประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ "Museum Forum 2017: Museum Education NOW!" หาทางออกความร่วมมือขององค์กรพิพิธภัณฑ์กับภาคการศึกษา สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ชูสื่อการเรียนรู้เพื่อพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ อาทิ สมุดกิจกรรมสำหรับเยาวชน คู่มือพิชิตองค์ความรู้ (Tool Kits) ชุดอีเลิร์นนิ่ง สื่อที่จับต้องได้ เกมส์ สื่อบันเทิงเชิงสาระสร้างสรรค์ และ โปรแกรมเรียนรู้สำหรับโรงเรียน เป็นต้น ตลอดจน สพร. ได้ร่วมกับ นักวิชาการ นักการศึกษาด้านพิพิธภัณฑ์ หน่วยงานการศึกษา และองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรม 9 แห่ง จัดการประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ "Museum Forum 2017: Museum Education NOW!"แกะปมปัญหาและหาทางออกประเด็นงานการศึกษาในพิพิธภัณฑ์ไทยที่ยังขาดความสอดคล้องในด้านของนโยบายการใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อเพื่อการศึกษา และสร้างเสียงสะท้อนสู่หน่วยงานการศึกษาให้บรรจุการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์เข้าสู่หลักสูตร ในฐานะทรัพยากรการเรียนรู้อย่างแท้จริง นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา นิยามของพิพิธภัณฑ์ได้ปรับเปลี่ยนเรื่อยมา ปัจจุบัน วงการพิพิธภัณฑ์เองได้เพิ่มบทบาทด้านการศึกษาสำหรับประชาชน ซึ่ง สพร. ที่มีพันธกิจหลักในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการและแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญกับประเด็นด้านการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเยาวชนเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาได้ดำเนินการพัฒนากิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองนโยบายการเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม อาทิ โปรแกรมการเรียนรู้สำหรับโรงเรียน การพัฒนาสมุดกิจกรรมและใบงาน เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ และง่ายต่อการจดจำเนื้อหา โครงการรถรักเรียน (Muse Caravan) ที่นำความรู้ไปมอบให้ยังโรงเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ในการนำเด็กเข้ามาถึงพิพิธภัณฑ์ โครงการมิวเซียมติดล้อ (Muse Mobile) นิทรรศการเคลื่อนที่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประกอบ เพื่อขยายโอกาสสำหรับเยาวชนในระดับภูมิภาค เป็นต้น นายราเมศ กล่าวต่อว่า สพร. ได้ดำเนินการพัฒนา สื่อการเรียนรู้แบบต่างๆ (Education Program Showcase) โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของรูปแบบการสื่อสารในแต่ละช่วงวัย และเน้นแนวคิดการเรียนรู้โดยมีปฏิสัมพันธ์ ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสหรือการลงมือทำ อาทิ · สมุดกิจกรรมสำหรับชั้นปฐมวัย ที่เน้นสื่อด้วยภาพ มากกว่าตัวอักษร โดยออกแบบชุดความรู้ให้เชื่อมโยงกับวัตถุจัดแสดง เนื้อหาง่าย ไม่ซับซ้อน กระตุ้นความสนใจ เสริมสร้างจินตนาการ และปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ในวัยเด็ก · สมุดกิจกรรมสำหรับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เน้นการบูรณาการความรู้สหสาขาวิชาให้เชื่อมโยงกับความรู้ที่เคยได้เรียนรู้มา เน้นการสื่อด้วยข้อความที่สั้นกระชับ ใช้ภาพสีสัน ผสมผสานรูปแบบกิจกรรมหรือเกมอย่างง่าย เพิ่มพัฒนาการด้านมิติสัมพันธ์ ที่จะทำให้การเรียนผ่านพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อสำหรับเด็ก · คู่มือพิชิตองค์ความรู้ (Tool Kits) ชุดการเรียนรู้สำหรับ "ครู" เพื่อเป็นสื่อประกอบการเรียนรู้ด้านสังคมศาสตร์ โดยสอดแทรกความรู้ผ่านเกมและกิจกรรมสำหรับเยาวชน ที่หากเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์แล้ว สื่อสำหรับวิชาสังคมศาสตร์ยังขาดความปัจจุบันทันสมัยอยู่มาก · ชุดอีเลิร์นนิ่ง จากอิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อการศึกษา ชุดอีเลิร์นนิ่งจึงตอบรับพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ให้สามารถเรียนรู้อย่างสนุกเพลิดเพลินได้ทุกที่ทุกเวลา · สื่อที่จับต้องได้ เกมส์ และสื่อบันเทิงเชิงสาระสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การสัมผัสและลงมือทำ ที่ช่วยกระตุ้นให้สมองในการจดจำและเรียนรู้อย่างยั่งยืน อาทิ แบบจำลองโบราณวัตถุ จิ๊กซอว์ 3 มิติ เกมเศรษฐียุคสุวรรณภูมิ เกมส์การ์ดจับคู่ · โปรแกรมเรียนรู้ (School Programs) โปรแกรมบูรณาการเรียนรู้ตัวเลือกสำหรับโรงเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนได้รับประสบการณ์เรียนรู้และประโยชน์สูงสุดจากการทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์ กระตุ้นความสนใจของนักเรียนโดยการเชื่อมโยงความรู้ที่เคยเรียนมากับความรู้ใหม่ ใช้กิจกรรมและสื่อการเรียนรู้อื่นๆ อาทิ เวิร์กชอป สื่อที่จับต้องได้ การเล่นเกมส์ กิจกรรมสันทนาการ ประกอบกับการเรียนรู้รูปแบบดั้งเดิมอย่างการตอบคำถามในสมุดคำถามหรือใบงาน ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับวัตถุจัดแสดงและเส้นทางการเดินภายในพิพิธภัณฑ์ นอกจากสื่อการเรียนรู้ของทาง สพร. ที่เน้นพัฒนาสื่อรูปแบบดั้งเดิม ให้เข้ากับยุคสมัยและพฤติกรรมการเรียนรู้ของเยาวชนระดับปฐมวัย จนถึงมัธยมศึกษาเองแล้ว เครือข่ายพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ยังมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในระดับอุดมศึกษา ที่มีความสนใจเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น อาทิ แบบจำลองระหัดวิดน้ำ 3 มิติ โดยหอไทยนิทัศน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อการศึกษาด้านโครงสร้างภูมิปัญญาไทยสมัยก่อน ผ่านการเล่าเรื่องโดยใช้เทคโนโลยียุคใหม่ นายราเมศ กล่าวต่อว่า สพร. ได้จัดงาน Museum Forum 2017 ขึ้น โดยรวบรวมนักวิชาการ นักการศึกษาในวงการพิพิธภัณฑ์ องค์กรศิลปวัฒนธรรม และหน่วยงานการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง(TCE Center) ซึ่งภายในงานประกอบด้วย การนำเสนอผลงานวิชาการ ปาฐกถา เสวนาโต๊ะกลม แถลงการณ์การประชุมวิชาการ และการจัดแสดงสื่อการเรียนรู้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ร่วมกันหาทางออกสำหรับปัญหา และขับเคลื่อนบทบาทด้านการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ให้เด่นชัดมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีการลงทุนและให้การสนับสนุนกับการพัฒนาพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ แต่บทบาทด้านการศึกษาของพิพิธภัณฑ์กลับยังไม่เป็นที่ตระหนักมากนัก และสังคมเองยังไม่หยิบยกพิพิธภัณฑ์มาใช้เพื่อการเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ ด้วยจากหลายสาเหตุ อาทิ ความไม่สอดคล้องระหว่างหลักสูตรการศึกษากับพิพิธภัณฑ์ ข้อจำกัดเรื่องความเร่งรีบในการชมพิพิธภัณฑ์ การขาดการวางแผนจัดกระบวนการเรียนรู้นอกห้องที่ชัดเจน รวมถึงรูปแบบการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก ที่ยังต้องปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ และความสนใจที่หลากหลายของประชาชน ปัจจุบันการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดกรอบโครงสร้างเวลาสำหรับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและการศึกษานอกห้องเรียน ในระดับมัธยมศึกษา ประมาณ 100 ชั่วโมงต่อปี หรือประมาณ 8% ของเวลาเรียนทั้งหมด ซึ่งจากการศึกษาทฤษฎีการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้และกรณีศึกษาจากต่างประเทศ พบว่า กระบวนการเรียนรู้ซึมซับผ่านเพียงการดูการฟัง สมองจะสามารถเรียนรู้จดจำได้มากที่สุดแค่เพียง 50% เท่านั้น ซึ่งหากประเทศไทยมีการเพิ่มสัดส่วนการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ หรือการเรียนรู้ผ่านสื่อที่มีความทันสมัยให้เด็กได้รับประสบการณ์จริงเป็น 10-20% ของชั่วโมงการเรียนรู้ก็จะสามารถเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายราเมศ กล่าวสรุป ด้าน ดร.แอนนา มาเรีย ทีเรซา ลาบราดอร์ ผู้ช่วยกรรมการบริหารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟิลิปปินส์ กล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟิลิปปินส์ ได้จัดระบบองค์กรขึ้นใหม่ โดยรวมแผนกเฉพาะทางด้านการศึกษาเข้ากับบรรดานักอนุรักษ์ นักวิจัย รวมถึงภัณฑารักษ์ เพื่อช่วยกันกำกับการประกอบเรื่องราวเบื้องหลังของวัตถุจัดแสดง และทิศทางการนำเสนอให้มีความน่าสนใจ หลากหลายมุมมอง และให้ศักยภาพด้านการเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพแก่ผู้เข้าชม เพื่อลดช่องว่างการสื่อสารภายใต้มุมมองใดมุมมองหนึ่งเพียงอย่างเดียวในพิพิธภัณฑ์ จากข้อมูลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟิลิปปินส์ พบว่า หลังจากที่มีการผนวกบุคลากรทุกด้านเข้าด้วยกัน แล้วนำมาบูรณาการงานในพิพิธภัณฑ์ ที่ใช้มากกว่าเพียงการจัดวางวัตถุจัดแสดง โดยสร้างเรื่องราวตลอดเส้นทางการเดินชมพิพิธภัณฑ์ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย กระแสตอบรับจากผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพิ่มขึ้น และต่างมีความเห็นว่าเนื้อหาภายในพิพิธภัณฑ์มีความน่าสนใจ และง่ายต่อการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น ด้าน นาย อัลวิน ถัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายนโยบายและสังคม คณะกรรมการมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์ได้จัดทำกรอบบทบาทด้านการให้การศึกษาของหน่วยงานพิพิธภัณฑ์ โดยคณะกรรมการมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติสิงคโปร์ ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้ใช้พิพิธภัณฑ์และแหล่งมรดกวัฒนธรรมเพื่อเป็นทรัพยากรการเรียนรู้อย่างแท้จริง 2) พัฒนาโครงการศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะแก่โรงเรียน 3)สร้างศักยภาพทางการศึกษาเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมสังคมต่างๆ อาทิ ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการผลักดันให้การเรียนรู้ด้านสังคมศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ผนวกเข้ากับหลักสูตรระดับประถมและมัธยมศึกษา โครงการพัฒนาสื่อการสอนสำหรับเยาวชนที่เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง การสัมผัสผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 รวมถึง โครงการพัฒนาบุคคลากรครู แนะนำกลยุทธ์ในการใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์สามารถใช้เป็นสื่อประกอบการสอนที่มีประสิทธิภาพ และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยผลลัพธ์ที่ได้ พบว่า จำนวนผู้เข้าถึงหน่วยงานพิพิธภัณฑ์และสถาบันมรดกแห่งชาติเพิ่มขึ้นจากปี 2557 กว่า 7.7 แสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ทั้งนี้ การประชุมวิชาการ Museum Forum 2017: Museum Education NOW! จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2560 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ 02-255-2777 ต่อ 431, 432 หรือเข้าไปที่www.museumsiam.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ