สพฉ.ชื่นชมนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” ประสบผลสำเร็จ และลดปัญหาความแออัดของผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน

ข่าวทั่วไป Friday August 11, 2017 14:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายแพทย์สัญชัย ชาสมบัติ ผู้ช่วยเลขาธิการและโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่"(Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ที่ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติทุกสิทธิ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยไม่ต้องสำรองจ่ายในระยะ 72 ชั่วโมงแรก ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาหลังประกาศนโยบายฯ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึง 31 กรกฎาคม2560 พบว่า ประสบความสำเร็จด้วยดี และยังสามารถแบ่งเบาปัญหาความแออัดของผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลรัฐได้ นายแพทย์สัญชัย กล่าวต่อไปว่า มีผู้ขอใช้บริการแล้ว จำนวน 10,554 ราย เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจำนวน 4,654 ราย คิดเป็น44% ของผู้ของใช้บริการทั้งหมด ที่โรงพยาบาลเอกชน จำนวน 264 แห่ง ใน 62 จังหวัด กลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ พบว่า มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวน3,001ราย สิทธิสวัสดิการข้าราชการฯ จำนวน 884ราย สิทธิประกันสังคม จำนวน 568 ราย ที่เหลือเป็นสิทธิอื่นๆ โดยกลุ่มอาการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ได้แก่ หายใจติดขัดลำบาก (19.75%), อัมพาต แขนขาอ่อนแรง (14.31%), เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน (13.79%)และ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว (11.22%) ตามลำดับ นายแพทย์สัญชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่จะเข้าเกณฑ์การใช้สิทธิ UCEP ได้ คือ มีการกู้ชีพหรือประคองชีพด้วยมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้ยาควบคุมความดันและการเต้นของหัวใจ หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องมีการกู้ชีพหรือประคองชีพ โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มอาการเจ็บป่วยหลักที่จะนำมาสู่ภาวะฉุกเฉินวิกฤติ คือ 1) หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ2)หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง3) ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม4) เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง5) แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ6) มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ทั้งนี้ ความสำเร็จจากการดำเนินงานดังกล่าวต้องขอขอบคุณและขอชื่นชมโรงพยาบาลเอกชน ที่ให้ความร่วมมือต่อนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ป่วยตามสิทธิต่างๆ จะต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาลตามสิทธิ ที่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลรัฐ นโยบายนี้ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดจากภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ช่วยให้เข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว และช่วยลดความแออัดในการรับบริการที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลรัฐต่างๆ ลงได้อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้ เช่น การสร้างความเข้าใจในคำนิยามต่างๆ ให้ตรงกัน และการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุน เป็นต้น นายแพทย์สัญชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า หากประชาชนมีการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเรียกใช้บริการแพทย์ฉุกเฉิน ได้ที่สายด่วน1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการประจำอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ