ฟอร์ดรายงานความก้าวหน้าสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในเอเชีย แปซิฟิก

ข่าวยานยนต์ Wednesday August 30, 2017 13:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เผยรายงานความยั่งยืนประจำปี ฉบับที่ 18 โดยเน้นที่ความมุ่งมั่นของบริษัทในการจัดการความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงความคืบหน้าที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในเอเชีย แปซิฟิกฟอร์ดได้นำความรู้ด้านความยั่งยืนที่รวบรวมจากตลาดอื่นๆ มาใช้ในการก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในภูมิภาค ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เผยข้อมูลรายงานความยั่งยืนประจำปี ฉบับที่ 18 ซึ่งครอบคลุมรายละเอียดความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมในโรงงานผลิตทั่วโลกและความมุ่งมั่นในการเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งในกระบวนการสร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคต ถึงแม้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของเอเชียในระยะเวลาประมาณ 25 ปีที่ผ่านมาจะโดดเด่น และสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นให้แก่ผู้คนหลายพันล้านคน แต่หลายทศวรรษแห่งการเติบโตที่หนุนนำด้วยอุตสาหกรรมการผลิตนั้นมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายในรูปแบบของความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญ ปัจจุบัน รัฐบาล ชุมชน และประชาชน ต่างหันมาให้ความสำคัญกับความท้าทายเหล่านี้ โดยรายงานความยั่งยืนฉบับล่าสุดนี้จะให้รายละเอียดวิธีการที่ฟอร์ดนำสิ่งที่เรียนรู้จากแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลกมาปรับใช้ในการดำเนินงานในเอเชีย แปซิฟิก "หนึ่งในเหตุผลหลักคือการที่โรงงานผลิตในเอเชีย แปซิฟิกจะได้รับประโยชน์จากความรู้ที่เราได้สั่งสมมาตลอดระยะเวลามากกว่า 100 ปีแห่งประวัติศาสตร์การผลิตของฟอร์ด" แอนดี้ ฮอบส์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุณภาพสิ่งแวดล้อมของฟอร์ด กล่าว "โรงงานผลิตของเราหลายแห่งในเอเชีย แปซิฟิก มีอายุน้อยกว่า 10 ปี ซึ่งทำให้เราสามารถนำความรู้ด้านความยั่งยืนจากโรงงานอื่นๆ ทั่วโลกมาปรับใช้ได้" ปรัชญาของเฮนรี่ ฟอร์ด คือการสร้างโรงงานใกล้แม่น้ำเพื่อความคล่องตัวในการเดินทางขนส่ง ปรัชญานี้ยังสามารถใช้ได้ในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก แต่สิ่งที่แตกต่างจากอดีตคือ ในปัจจุบัน ฟอร์ดสามารถลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำเหล่านี้ "ตอนที่เราเริ่มก่อสร้างโรงงานในเอเชีย แปซิฟิก เราได้ระบุข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะปกป้องแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติได้อย่างดีที่สุด" เนื้อหาสำคัญของรายงานความยั่งยืน นับตั้งแต่ปี 2000 ฟอร์ดได้จัดทำรายงานความยั่งยืนของบริษัทขึ้น เพื่อติดตามความคืบหน้าของแนวทางการจัดการปัญหาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ คุณภาพอากาศและการดูแลรักษา รวมถึงเพื่อมองหาโอกาสที่จะสามารถสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อหน่วยธุรกิจทั้งหมด ตั้งแต่การอนุรักษ์น้ำ ไปจนถึงการอบรมและมอบความรู้แก่ซัพพลายเออร์ของเรา รายงานความยั่งยืนประจำปี 2016 – 2017 ของฟอร์ด เน้นที่ตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่สำคัญที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในเอเชีย แปซิฟิก ได้แก่ ลดการใช้น้ำลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำที่มนุษย์สามารถใช้ได้นั้นมีอยู่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณน้ำทั้งหมดในโลก ดังนั้นการอนุรักษ์น้ำจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเกือบทุกธุรกิจ เพื่อเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับเป้าหมายระยะยาวในการลดการใช้น้ำดื่มในการผลิตให้เหลือเพียงศูนย์ ฟอร์ดก้าวไปอีกขั้นด้วยการลดปริมาณการใช้น้ำในการผลิตรถยนต์ต่อคันลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมาในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก โดยความสำเร็จนี้เป็นผลจากการรีไซเคิลน้ำและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของหอระบายความร้อน และแนวทางปฏิบัติอื่นๆ ในประเทศจีน โรงงานผลิตฉางอันของฟอร์ดได้นำน้ำเสียเกือบ 370,000 คิวบิคเมตร มารีไซเคิลและใช้ใหม่ในปี 2016 นอกจากนี้ ยังรีไซเคิลน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการประเมิณคุณภาพ ซึ่งรถยนต์แต่ละคันจะต้องเข้าทดสอบสถานการณ์พายุฝนจำลองขั้นรุนแรงอีกด้วย สำหรับประเทศไทย ฟอร์ดได้มีการริเริ่มจัดตั้งโครงการระบบจัดการน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ Water Go Green ในปี 2016 โดยได้จัดทำระบบจัดการน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ Water Go Green ให้กับโรงเรียนในอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นชุมชนในบริเวณโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) พร้อมทั้งยังได้ร่วมมือกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (Population and Community Development Association หรือ PDA) นำอาสาสมัครฟอร์ดร่วมก่อสร้างถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อรองรับปริมาณน้ำสำรองและติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมวางระบบท่อน้ำตามแปลงปลูก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนมีกิจกรรมการเกษตรแบบพอเพียง ได้แก่ การปลูกมะนาวในวงบ่อ หลุมพอเพียง และการปลูกผักในตะกร้า ที่จะเสริมสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนและให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรพอเพียงแบบยั่งยืน นอกจากนี้ ฟอร์ดยังได้ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ทำโครงการน้ำสะอาดเพื่อชุมชนในประเทศไทย (Thailand Clean Water Community Project) โรงเรียนในอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยโครงการดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศและได้รับทุนในการจัดกิจกรรมมูลค่า 200,000 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 6.9 ล้านบาท) จากโครงการ Bill Ford Better World Challenge โดยมีพนักงานจิตอาสาของฟอร์ด ประเทศไทย และโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (FTM) รวมกว่า 200 คน ร่วมสร้างและปรับปรุงระบบน้ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำให้กับโรงเรียนและคนในชุมชนกว่า 3,300 คน นอกจากนี้ยังร่วมจัดสร้างสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่คนในชุมชนและสร้างผลผลิตเพิ่มเติม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรชีวิตในชุมชนอย่างยั่งยืน ประสบความสำเร็จในการลดการกลบฝังของเสียเหลือเพียงศูนย์ โรงงานผลิตของฟอร์ด 82 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึง 13 แห่งในเอเชีย แปซิฟิก ประสบความสำเร็จในการลดการกลบฝังของเสียเหลือเพียงศูนย์ (Zero Waste to Landfill) เมื่อโรงงานได้การรับรองสถานะนี้ นั่นหมายถึงไม่มีการนำของเสียไปทิ้งที่สถานที่ฝังกลบแม้แต่ชิ้นเดียว ความสำเร็จเหล่านี้เกิดจากหลายวิธีการ เช่น การคัดแยกของเสีย การรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ และการหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ของเสียจากโรงงานผลิตถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในตลาดเอเชีย แปซิฟิก ที่ซึ่งเมืองขนาดใหญ่หลายแห่งกำลังเสี่ยงต่อปัญหามลพิษอันเกิดจากการรั่วไหลของของเสีย โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีพื้นที่กลบฝังของเสียขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รัฐบาลจีนได้หันมาให้ความสำคัญกับปัญหานี้ในปี 2559 โดยตั้งเป้าหมายให้เมืองใหญ่ต่างๆ รวมถึงปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ และฉงชิ่ง เป็นเมืองที่ลดการกลบฝังของเสียเหลือเพียงศูนย์ภายในปี 2020 ขับเคลื่อนนวัตกรรมทั่วทุกหน่วยธุรกิจ หนึ่งในผลข้างเคียงจากการที่โรงงานของฟอร์ดในเอเชีย แปซิฟิก มีอัตราความยั่งยืนสูง คือโรงงานเหล่านี้จะทำผลงานตามเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนระดับโลกประจำปีได้ยากกว่าโรงงานแห่งอื่นๆ เช่น โรงงานผลิตที่เดียร์บอร์น มิชิแกน ที่มีอายุ 50 ปี "เรามีโรงงานในเอเชียหลายแห่งที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมที่สุด แต่เราขอให้พวกเขาก้าวไปอีกขั้น วิศวกรของเราต้องใช้พลังความสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่งเพื่อสร้างผลงานที่เหนือกว่าเดิม" ตัวอย่างที่เด่นชัดของนวัตกรรมเหล่านี้พบได้ในประเทศจีน วิศวกรจากโรงงานผลิตฉางอันฟอร์ด ในเมืองฉงชิ่ง ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีการพ่นสีแบบ 3-Wet Painting ในปี 2016 โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยเพิ่มความคงทนของสี เสริมประสิทธิภาพการทำสีโดยรวม และลดการปล่อยสารอินทรีย์ไอระเหย ประมาณการณ์ว่า โครงการนี้เพียงโครงการเดียวได้ช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานของโรงงานลงถึง 10 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเท่ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประชากร 18,600 คนในประเทศจีนต่อปี ทำงานร่วมกับระบบซัพพลายเชน นอกจากการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโรงงานของเราเองแล้ว ฟอร์ดยังลดผลกระทบที่เกิดจากระบบซัพพลายเชนของบริษัทด้วยการขยายโครงการ Partnership for a Cleaner Environment (PACE) ให้ครอบคลุมซัพพลายเออร์มากกว่า 40 แห่ง ใน 40 ประเทศ จากจำนวนซัพพลายเออร์ 25 แห่งในปี 2015 โดยฟอร์ดได้แบ่งปันแนวทางปฏิบัติและเครื่องมือติดตามวัดผล เพื่อช่วยให้ซัพพลายเออร์ติดตามและบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของตนเองที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ "ด้วยการช่วยให้ซัพพลายเออร์ทำงานอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น เราสามารถร่วมกันเดินหน้าลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการลงมือทำเพียงบริษัทเดียวถึง 10 เท่า" ธุรกิจที่รับผิดชอบ ฟอร์ดได้รับรางวัล "องค์กรที่มีจริยธรรมสูงสุดของโลก" จากสถาบันเอธิสเฟียร์ติดต่อกันเป็นปีที่ 8 และเป็นบริษัทรถยนต์เพียงบริษัทเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ติดต่อกันยาวนานที่สุด "เราตระหนักดีว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นเรื่องจริงและเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ และเราจะเดินหน้าทำงานร่วมกับผู้นำทั่วโลกเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกระดับโลก" บิล ฟอร์ด ประธานบริหารฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กล่าว"ในขณะเดียวกัน เรามีโอกาสที่จะสร้างความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงในช่วงเวลาที่เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกแห่งยานยนต์และสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ เช่น การแบ่งปันรถยนต์ การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และระบบรถรับส่งไดนามิค" ฟอร์ดภาคภูมิใจในทุกความสำเร็จระหว่างการเดินทางเพื่อความยั่งยืนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่การเดินทางยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้ ยังมีงานอีกมากมายรอเราอยู่ "เราเดินทางมาไกลจากจุดเริ่มต้น แต่ยังมีหนทางอีกยาวไกลรออยู่เบื้องหน้า" บิล ฟอร์ด กล่าว "เราเชื่อว่าเรามีหน้าที่ที่จะทำให้โลกนี้ดียิ่งขึ้นกว่ายุคสมัยของเรา" อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ sustainability.ford.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ