ปภ.แนะผู้ขับขี่เรียนรู้การดูแลระบบเบรกอย่างถูกวิธี...ลดเสี่ยงอุบัติเหตุร้ายแรง

ข่าวทั่วไป Monday September 4, 2017 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะผู้ขับขี่ดูแลระบบเบรกอย่างถูกวิธี โดยตรวจสอบและดูแลระบบเบรกให้พร้อมใช้งาน หมั่นตรวจสอบน้ำมันเบรก เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกตามวงรอบที่กำหนด เลือกใช้น้ำมันเบรกที่ได้มาตรฐาน ผ้าเบรกควรมีความหนาไม่ต่ำกว่า 4 มิลลิเมตร จานเบรกควรเรียบเสมอกัน หากจานเบรกมีรอยร้าว คด บางเกินไปหรือบิดเบี้ยว ควรเปลี่ยนจานเบรกใหม่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการ ชะลอความเร็วและการหยุดรถ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ระบบเบรกเป็นอุปกรณ์สำคัญประจำรถ หากผู้ขับขี่ไม่ดูแลระบบเบรกให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการดูแลรักษาระบบเบรกอย่างถูกวิธี ดังนี้ สาเหตุที่ทำให้ระบบเบรกมีอายุการใช้งานสั้นลง อาทิ ระบบเบรกหมดอายุการใช้งาน การไม่ดูแลระบบเบรกให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน การบรรทุกน้ำหนักรถมากเกินไป การเหยียบเบรกบ่อยครั้งโดยไม่จำเป็น การขับรถผ่านเส้นทางลาดชัน ทำให้เบรกถูกใช้งานมากกว่าปกติ การเบรกกะทันหันเมื่อขับรถด้วยความเร็วสูง การตรวจสอบดูแลรักษาระบบเบรก น้ำมันเบรก ควรตรวจสอบน้ำมันเบรกไม่ให้พร่อง หรือต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด และไม่มีรอยคราบน้ำมันเบรกใต้ท้องรถมากเกินไป ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกทุกๆ 1 ปี หรือ 25,000 กิโลเมตร และไม่นำน้ำมันเบรกที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้งาน อาทิ น้ำมันเบรกที่ถ่ายออกมาแล้วกลับมาใช้ใหม่ หรือนำน้ำมันเบรกต่างชนิดมาผสมกัน ผ้าเบรกควรมีความหนาไม่ต่ำกว่า 4 มิลลิเมตร เพราะหากผ้าเบรกใกล้หมด จะเกิดการเสียดสีกัน ส่งผลให้จานเบรกเป็นรอย หากปล่อยทิ้งไว้ จานเบรกจะถูกขูดเป็นรอยลึก จนต้องเปลี่ยนจานเบรกใหม่ จานเบรก หากเกิดการเสียดสีหรือผิวไม่เรียบ เป็นรอยขูดขีด ควรเจียรจานเบรกให้เรียบเสมอกันก่อนนำมาใช้งาน หากจานเบรกมีรอยร้าว คด บางเกินไปหรือบิดเบี้ยว ควรเปลี่ยนจานเบรกใหม่ เพราะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการหยุดรถ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ควรหมั่นดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ของระบบเบรกให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการชะลอความเร็วและหยุดรถ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ