ก.เกษตรฯ การจัดทำข้อเสนอและรายละเอียดโครงการ Thai Rice NAMA

ข่าวทั่วไป Monday September 11, 2017 13:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก.เกษตรฯ พอใจความก้าวหน้าการจัดทำข้อเสนอ Thai Rice NAMA เตรียมลุ้นข่าวดีต้นปีหน้า นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมการข้าวและหน่วยงานภาคีได้รายงานความก้าวหน้าของการจัดทำข้อเสนอและรายละเอียดโครงการ Thai Rice NAMA ต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการที่มี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน หลังจากที่ไทยได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 โครงการที่มีสิทธิยื่นขอรับการสนับสนุนจาก NAMA Facility ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากประเทศเยอรมัน อังกฤษ เดนมาร์กและสหภาพยุโรป โดยโครงการ Thai Rice NAMA ฉบับสมบูรณ์จะต้องยื่นต่อ NAMA Facility ภายในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2560 นี้ หากโครงการได้รับอนุมัติจะมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จากสถิติการปล่อยก๊าซมีเทนที่เกิดจากการทำนา ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 4 ของโลกรองจากประเทศจีน อินเดีย อินโดนิเซีย โดยไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี "ความตกลงปารีส" ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 25 ภายในปี พ.ศ. 2573 ขณะเดียวกันผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมีค่านิยมที่เปลี่ยนจากการบริโภคข้าวคุณภาพต่ำไปสู่ข้าวคุณภาพสูง ความต้องการข้าวที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและมาจากกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ชี้ให้รัฐบาล ชาวนาไทย และผู้ประกอบการต้องตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตที่ปลอดภัยและมาตรฐานสูง แต่อุปสรรคที่ผ่านมาคือชาวนาไทยขาดแรงจูงใจ ขาดเงินทุนและเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมนางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรฯ พอใจความคืบหน้าของการจัดทำรายละเอียดของคณะทำงาน หากข้อเสนอของเราได้รับคัดเลือก ประเทศไทยจะได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 15 ล้านยูโร หรือประมาณ 570 ล้านบาท เพื่อใช้ในการส่งเสริมการปลูกข้าวที่ถือเป็นมาตรฐานการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน หรือที่รู้จักในนาม SRP (Sustainable Rice Platform) แต่โครงการนี้มีความพิเศษตรงที่จะเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการทำนา อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของรัฐบาล และถือเป็นมิติใหม่ของภาคการเกษตรของประเทศ ที่จะช่วยเติมเต็มโครงการยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ การผลิตข้าวอินทรีย์และข้าวปลอดภัยมาตรฐาน GAP การผลิตข้าวแบบยั่งยืนตามแนวทาง SRP โดยเมื่อนำโครงการทั้งหมดนี้มาร้อยเรียงกันจะกลายเป็นโร้ดแมปสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเป็นเลิศในการผลิตข้าวมาตรฐานโลก และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนให้เกษตรกร การผลิตข้าวตามมาตรฐาน SRP ที่เน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ มีแนวคิดหลักที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1) การส่งเสริมเทคโนโลยีแก่เกษตรกรเพื่อการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2) การส่งเสริมการบริการและเงินทุนแก่ผู้ให้บริการภาคเอกชนที่ให้บริการเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซ และ 3) การกำหนดนโยบายและการสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกร โดยจะใช้เทคโนโลยี อาทิ การปรับระดับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การจัดการฟางและตอซัง การจัดการธาตุอาหารพืชและปุ๋ย ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ตลาดคาร์บอน (carbon market) ต่อไปในอนาคต "โครงการ Thai Rice NAMA มีเป้าหมายที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตให้เกษตรกรรายย่อยในเขตชลประทานภาคกลาง 6 จังหวัด ประกอบด้วย สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง รวมทั้งสิ้น 100,000 ครัวเรือน โดยคาดว่าจะทราบผลประมาณไตรมาสแรกของปี 2561 จึงขอให้ทุกฝ่ายเอาใจช่วยและลุ้นไปกับเราว่าประเทศไทยจะมีข่าวดีสำหรับชาวนาไทยอีกหรือไม่" นางสาวชุติมา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ