ชี้บทบาทเภสัชกรยุคพลิกฟื้นภูมิปัญญา ใช้สมุนไพรทดแทนในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขลดการสูญเสียเงินตรา

ข่าวทั่วไป Thursday December 7, 2000 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--จุฬาฯ
จากการประชุมวิชาการเรื่อง "การพัฒนาสมุนไพรที่ใช้ในโรงพยาบาล" ซึ่งจัดโดยหน่วยฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพและการศึกษาต่อเนื่อง ภาควิชาเภสัชเวท ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ห้อง 502 ตึก 80 ปีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีประชุมได้มีการหยิบยกประเด็นถึงเหตุผลที่ต้องมีการพิจารณาในเรื่องการพัฒนาสมุนไพรเพื่อใช้ในโรงพยาบาลว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมามีการใช้สมุนไพรอย่างแพร่หลายในกลุ่มประชาชน ทั้งในรูปแบบที่เป็นการผลิตเพื่อใช้เอง และการซื้อจากร้านขายยาทั่วไป แต่การใช้สมุนไพรในส่วนของสถานบริการสาธาณสุขยังมีไม่มากนัก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ในขณะนี้การนำยาสมุนไพรมาใช้เพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบันในสถานบริการสาธารณสุขเริ่มได้มีการยอมรับ มีการพัฒนารูปแบบ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการประกาศใช้บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2542 (บัญชีสมุนไพร) ที่กำหนดรายการยาจากสมุนไพรจำนวน 13 รายการให้เป็นบัญชียาที่จำเป็น สามารถใช้ในสถานบริการสาธารณสุขได้อย่างมีมาตรฐานรองรับ
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งยาจากต่างประเทศมีมูลค่าสูงถึงปีละกว่า 22,000 ล้านบาท แม้ว่าจะสามารุผลิตยาสำเร็จรูปภายในประเทศได้ก็ตาม แต่ก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบทางยากว่าร้อยละ 90 การส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนายาสมุนไพร นอกจากจะเป็นการช่วยประหยัดเศรษฐกิจของประเทศแล้วยังเป็น การเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาตนเอง ตลอดจนการพัฒนาความรู้ ภูมิปัญญาของท้องถิ่นอันเป็นสมบัติล้ำค่าที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษได้อีกด้วย การพัฒนาสมุนไพรขึ้นมาใช้ในโรงพยาบาลจึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศและวิชาชีพเภสัชกรรมไทยอย่างมาก
รศ.ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสภาพการใช้สมุนไพรในประเทศไทยขณะนี้ พบว่ามีการผลิตขึ้นมามากชนิดแต่ปริมาณของแต่ละชนิดที่ผลิตได้ยังมีน้อยอยู่ ซึ่งสภาวิจัยแห่งชาติก็พยายามที่เข้ามาสนับสนุนให้ผู้ที่ผลิตสมุนไพรสามารถพัฒนาศักยภาพขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกสายพันธุ์สมุนไพร การปลูก การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการแปรรูปเพื่อให้ได้สารตั้งต้นที่จะออกฤทธิ์ทางยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคงจะต้องผ่านกระบวนการทดสอบอีกหลายอย่างเพื่อผู้บริโภคจะได้มีความมั่นใจในระดับสูง อย่างไรก็ตามแนวโน้มด้านความต้องการยาสมุนไพรยังมีอยู่ต่อไป เพราะประชาชนหันมาให้ความเชื่อมั่นต่อการรักษาโรคและรักษาสุขภาพตามแนวทางภูมิปัญญาไทยโบราณเคยใช้มา และในความเป็นจริงแล้วยาสมุนไพรมีความเป็นพิษ หรือมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาน้อยมากหากใช้ยาอย่างถูกวิธี เภสัชกรจะต้องเข้ามามีบทบาทในกระแสของความเปลี่ยนแปลงด้านการใช้ยามากขึ้น โดยจะต้องมีการพัฒนาฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันทั้งด้านการผลิต การใช้ ตลอดจนสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับมากขึ้น อันจะเป็นแนวทางให้มีการนำยาสมุนไพรเข้ามาใช้ทดแทนในโรงพยาบาลมากขึ้นในอนาคต--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ