รัฐมนตรีเกษตรฯ รุดลงพื้นที่โคราช หารือหน่วยเกี่ยวข้องเตรียมแผนแก้ไขปัญหาน้ำต้นทุนของเขื่อนลำตะคองก่อนเข้าแล้ง หลังพบปริมาณน้ำเก็บกักเฉลี่ยเพียง 35 % สั่งกรมชลฯ เตรียมศึกษาแผนทำอ่างพวงตามแนวทางศาสตร์พระราชาผันน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ เข้าเขื่อนลำตะคอง

ข่าวทั่วไป Friday September 22, 2017 12:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำ การเพาะปลูกในเขตชลประทาน การปฏิบัติการฝนหลวง และ แนวทางการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ว่า แม้ว่าภาพรวมในปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าปีก่อนๆ ส่งผลให้น้ำในเขื่อนต่างๆ มีมากกว่าปีก่อนๆ แต่บางพื้นที่ยังมีปริมาณฝนไม่มากนัก โดยเขื่อนที่มีน้ำน้อยมาก จำนวน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ และ เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ที่ยังเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งเฉพาะพื้นที่ แม้จะมีพายุในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง/เขื่อนลำพระเพลิง มีน้ำไหลเข้าน้อยมาก เขื่อนลำตะคอง ณ วันที่ 20 ก.ย. 60 มีน้ำ 111 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 88 ล้าน ลบ.ม. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง มีพื้นที่ชลประทาน 154,195 ไร่ มีการเพาะปลูกรวม 120,599 ไร่ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในต้นเดือน ธ.ค. 60 คาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 60 เขื่อนลำตะคองมีน้ำใช้การได้ 114 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าเขื่อนอื่นๆ ดังนั้น จึงต้องวางแผนเตรียมการช่วยเหลือล่วงหน้า โดยได้สั่งการให้จัดทำแผนดำเนินการช่วยเหลือทั้งในระยะสั้น และ ระยะยาว โดยแผนระยะสั้นในช่วงที่ยังพอมีความชื้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ระดมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้ได้มากที่สุด และในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำให้มีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และ การรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งจะระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคอง เดือนละ 10.82 ล้าน ลบ.ม. หรือ วันละ 0.36 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำอุปโภคบริโภค วันละ 0.23 ล้าน ลบ.ม. และ เป็นน้ำรักษาระบบนิเวศน์/อื่นๆ วันละ 0.13 ล้าน ลบ.ม. ไม่มีน้ำสำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้ง จะมีน้ำใช้ได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 61 (รวมระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ มีแผนส่งเสริมการประกอบอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อให้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ มาตรการจ้างงานเกษตรกรในพื้นที่ในช่วงฤดูแล้ง และส่งเสริมการประกอบอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อให้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5,000 ไร่ ใช้น้ำประมาณ 2.00 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลฯ สามารถสนับสนุนน้ำให้ได้ สำหรับแผนในระยาว นอกจากดำเนินการปรับเปลี่ยนการเกษตรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำแล้วยังสั่งการให้กรมชลประทานเร่งจัดทำโครงการคลองผันน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์-เขื่อนลำตะคอง ซึ่งเป็นเครือข่ายอ่างเก็บน้ำหรืออ่างพวงตามแนวทางศาสตร์พระราชา ที่ดึงน้ำส่วนเกินจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยการวางท่อสูบน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มายังอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก และ สูบส่งต่อไปเขื่อนลำตะคลอง ระยะประมาณ 37.1 กม. คาดว่าจะสามารถเพิ่มน้ำให้เขื่อนลำตะคอง ปีละ 94 ล้าน ลบ.ม. และ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 50,000 ไร่ ใช้งบประมาณ 3,900 ล้านบาท คาดว่าสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2563 – 2565 เนื่องจากต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการออกแบบศึกษารายละเอียดโครงการควบคู่กันไป ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ถึง 18 กันยายน 2560 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 182 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็น ร้อยละ 97.2 ปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 3,049 เที่ยวบิน (4,412:32 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 2,643.33 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ 433 นัด พลุแคลเซียมคลอไรค์ 56 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 56 จังหวัด ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 10 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนพระปรง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนลำตะคอง สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม - 18 กันยายน 2560 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคองไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 102 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 93 จำนวน 331 เที่ยวบิน จำนวนสารฝนหลวง 350.10 ตัน พลุแคลเซียมคลอไรค์ 21 นัด ซึ่งยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ในฤดูแล้ง ดังนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงเตรียมการวางแผนเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองอย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้แหล่งน้ำสำคัญของการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน และพืชสวน และการใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรของจังหวัดนครราชสีมาเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ