ข่าวจากศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยฉบับที่ 27/2544 เรื่อง ความคืบหน้าของมาตรการทางภาษีของตราสารหนี้

ข่าวทั่วไป Monday October 15, 2001 13:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติมาตรการทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทยที่ได้ข้อสรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 31 มีนาคม 2544 นั้น ขณะนี้ มาตรการทางภาษีดังกล่าวบางส่วนได้ผ่านการพิจารณาจากกรมสรรพากร และได้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวง ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 388) พ.ศ. 2544 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2544 ผลบังคับใช้ ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 6 กันยายน 2544
สาระสำคัญ เปลี่ยนแปลงฐานภาษีธุรกิจเฉพาะ (SBT) ของสถาบันการเงินที่เก็บจากการซื้อขายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ให้เสียบนฐานสุทธิที่เกิดจากการ Net กำไรและขาดทุนของแต่ละเดือน จากเดิมที่เสียภาษีบนฐานของ Gross จากรายการกำไรเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมสภาพคล่องในตลาดรองตราสารหนี้และลดต้นทุนการทำธุรกิจของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ สถาบันการเงิน หมายถึง กิจการธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายเฉพาะ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
2. กฎกระทรวงฉบับที่ 231 (พ.ศ. 2544) ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 13 กันยายน 2544 ผลบังคับใช้ ถัดจากวันประกาศในราชกิจจาฯ คือ วันที่ 14 กันยายน 2544
สาระสำคัญ อนุญาตให้ผู้เสียภาษีที่เป็นบุคคลธรรมดาเสียภาษีดอกเบี้ยที่ได้รับจากตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใดๆที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกตามระยะเวลาที่ถือครองได้โดยให้ผู้เสียภาษีขอเครดิตภาษีคืนในส่วนที่ได้หักทั้งจำนวนไว้แล้ว ณ สิ้นปีได้ เพื่อแก้ไขความซับซ้อนทางการเก็บภาษีของดอกเบี้ยชนิดนี้
ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงข้างต้นสามารถ download ได้จาก Website ของศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย (http://www.thaibdc.or.th/related_rules.htm)--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ