นโยบายการส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ ปี 2561 “ปี 2561 ปีแห่งการพัฒนาคนและยกระดับการบริหารจัดการ”

ข่าวทั่วไป Monday October 9, 2017 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์ นับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นปีแห่งการเริ่มต้นนโยบายการยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ ภายหลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นองค์กรที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์วิเคราะห์และกำหนดเกณฑ์การจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ และประเมินสถานภาพสหกรณ์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาสหกรณ์ตามสถานภาพ โดยแบ่งสหกรณ์ออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ สหกรณ์ระดับชั้นที่ 1 การมีส่วนร่วมของสมาชิกทำธุรกิจกับสหกรณ์ต้องเกิน 70% มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ มีความมั่นคงเข้มแข็งและมีระบบการควบคุมภายในระดับดีถึงดีมาก ข้อบกพร่องไม่มีหรือมีแต่แก้ไขเรียบร้อยแล้ว สหกรณ์ชั้นที่ 2 การมีส่วนร่วมของสมาชิกทำธุรกิจกับสหกรณ์ 60-69 % ประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ระดับยังต่ำกว่ามาตรฐาน การควบคุมภายในระดับพอใช้ ข้อบกพร่องอยู่ระหว่างการแก้ไขแต่ยังไม่แล้วเสร็จ สหกรณ์ระดับชั้นที่ 3 เรื่องการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ยังต่ำกว่า 60 % ประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ อยู่ในระดับต้องปรับปรุงและแก้ไขอย่างเร่งด่วน ระบบการควบคุมภายในต้องมีปรับปรุงและไม่มีระบบการควบคุมภายในเลย มีข้อบกพร่องและยังไม่ได้รับการแก้ไข สหกรณ์ชั้นที่ 4 เป็นสหกรณ์ที่นายทะเบียนสั่งยกเลิกกิจการแล้ว และอยู่ระหว่างการชำระบัญชี ปี 2560 กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปส่งเสริมให้สหกรณ์ทุกระดับชั้นมีการพัฒนาในแต่ละด้านทีละขั้น เพื่อก้าวสู่การเป็นสหกรณ์ระดับชั้นที่ 1 โดยการเข้าไปแนะนำให้พัฒนาในด้านการบริหารจัดการ การสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกและการแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ให้ลดลงจนหมดไปในที่สุด ในช่วงเวลาที่มีการพัฒนาและยกระดับความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์ทั้งประเทศ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ริเริ่มแนวทางในการปฏิรูปภาคการเกษตร และเพิ่มบทบาทของสหกรณ์ภาคการเกษตรให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ลงสู่ตัวเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิก โดยในปี 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร โดยมีการพัฒนาภาคเกษตรกรให้ก้าวหน้าตามลำดับ จนถึงในปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ด้วยนโยบายยกกระดาษ A4 โดยมีเป้าหมายคือ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น เกษตรกรมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรและมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีหนี้สินลดลง โดยมีนโยบายที่ต้องดำเนินการ 9 เรื่อง 13 แผนงาน อาทิ ศพก. การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ Zoning by Agri-Map มาตรฐานสินค้าเกษตร/GAP เกษตรทฤษฎีใหม่ผสมผสาน ธนาคารสินค้าเกษตร แผนผลิตข้าวครบวงจร การจัดที่ดินทำกินของ ส.ป.ก. เปนตน ทั้งหมดนี้ จะขับเคลื่อนโดยบูรณาการงานตาม Agenda และ Area Based นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใชและอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเขามาชวยเพื่อใหบรรลุเปาหมายดังกล่าว ดังนั้น ปี 2561 จึงเป็นช่วงเวลาของการผลักดันให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพในการดำเนินงานและผ่านการยกระดับความเข้มแข็งแล้ว เตรียมพร้อมสำหรับการทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนโยบายพัฒนาภาคการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มุ่งหวังที่จะส่งเสริมการรวมกลุ่มประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ สร้างความกินดีอยู่ดีและความเข้มแข็ง ซึ่งนับจากนี้สหกรณ์จะบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการเสริมสร้างความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ปี 2561 กำหนดให้ปีแห่งการพัฒนาคนและยกระดับการบริหารจัดการ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบสหกรณ์ในปี 2561 ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ การดำเนินงานตามมาตรการยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ ส่งผลทำให้สหกรณ์ทุกแห่งมีข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อใช้ในการบริหารกิจการและการตัดสินใจ ทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน ซึ่งกรมส่งสหกรณ์ยังคงเดินหน้ายกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เน้นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในสหกรณ์ ซึ่งแบ่งเป็นแนวทางการพัฒนาทั้งสหกรณ์นอกภาคการเกษตร และสหกรณ์ในภาคการเกษตร สหกรณ์ภาคออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน 1.1 ดำเนินการตาม 5 มาตรการหลัก ประกอบด้วย การสร้างความเข้มแข็งของสมาชิกให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของสหกรณ์ การเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจแบบสหกรณ์ การพัฒนาการบริหารจัดการและเสริมสร้าง ธรรมาภิบาล มาตรการในการกำกับและตรวจสอบและมาตรการสนับสนุน เช่น การพัฒนาบุคลากร การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของสหกรณ์ 1.2 การกำกับดูแลสหกรณ์ตามเกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ปฏิรูปการบริหารจัดการและการกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ออกหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ 4 ด้าน คือ ด้านธรรมาภิบาล ด้านสภาพคล่อง ด้านเครดิตและด้านการปฏิบัติการ และให้มีการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานกำกับดูแล รวมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศระบบการเงินของสหกรณ์ให้ทันสมัย 1.3 การส่งเสริมธรรมาภิบาลในสหกรณ์ ภายใต้โครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล ในเบื้องต้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำโครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล โดยส่งเสริมให้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีทุนดำเนินงานเกินกว่า 1,000 ล้านบาท นำหลักธรรมาภิบาลเข้ามาใช้ในการบริหารงานสหกรณ์ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาลนั้น ประกอบด้วยหลักสำคัญ 9 ประการด้วยกัน 1.หลักประสิทธิผล 2.หลักประสิทธิภาพ 3.หลักการตอบสนอง 4.หลักภาระรับผิดชอบ 5.หลักความโปร่งใส 6.หลักการมีส่วนร่วม 7.หลักการมอบอำนาจ 8.หลักนิติธรรม และ 9.หลักความเสมอภาค 1.4 การดูแลและบรรเทาปัญหาหนี้สินของสมาชิก ปัจจุบันอัตราหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สหกรณ์จำเป็นต้องจัดสมดุลระหว่างหนี้สินกับเงินออมของสมาชิกให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยจะต้องส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนให้ความสำคัญและมีการออมเงินกับสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น เป็นการเพิ่มสัดส่วนการออม และช่วยลดปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิก และเป็นการช่วยวางแผนทางการเงินให้กับสมาชิกสหกรณ์ได้มีเงินออมเหลือไว้ใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียน ขณะเดียวกันเงินออมของสมาชิกยังเป็นเงินทุนที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับสหกรณ์ ที่จะช่วยป้องกันวิกฤติทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย 1.5 การพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ภาคออมทรัพย์ จะมีการยกร่างหลักสูตรฝึกอบรมต่าง ๆให้เนื้อหามีความทันสมัย อบรมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการอบรมให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ มุ่งเน้นที่จะพัฒนาบุคลากรของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้ความชำนาญทางด้านการเงินการบัญชี สามารถวิเคราะห์วางแผนการดำเนินธุรกิจทางการเงินของสหกรณ์ รวมถึงรู้จักป้องกันปัญหาความเสี่ยงต่าง ๆ ไมให้เกิดขึ้นกับสหกรณ์ของตนเองได้ สหกรณ์ภาคการเกษตร ส่งเสริมการสร้างรายได้เกษตรกรและบรรเทาปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตร เนื่องจากในปัจจุบัน สมาชิกสหกรณ์การเกษตรส่วนใหญ่มีหนี้ค้างชำระกับสหกรณ์จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา สหกรณ์สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้เพียงการปรับโครงสร้างหนี้ โดยขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่สมาชิก ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุส่งผลทำให้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรยังไม่ลดลงเท่าที่ควร ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์จะสนับสนุนให้สหกรณ์ภาคการเกษตรดูแลทุกข์สุขและมีความใกล้ชิดกับสมาชิกมากยิ่งขึ้น มีการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยการส่งเสริมรายได้ให้กับสมาชิก เน้นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการทำการเกษตรให้กับสมาชิก เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เหลือเพียงพอที่จะชำระหนี้คืนสหกรณ์ได้เพิ่มมากขึ้น 2.ส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็งมีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐ สนับสนุนให้สหกรณ์ภาคการเกษตรที่มีศักยภาพมีบทบาทรองรับการขับเคลื่อนงานพัฒนาภาคการเกษตร 2.1 การขับเคลื่อนงานนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพพร้อมในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาภาคการเกษตร โดยการนำนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปส่งเสริมให้สหกรณ์เหล่านี้ดำเนินการ ทั้งนโยบายด้านการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศพก. การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมด้วย Agri Map ธนาคารสินค้าเกษตร โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินในพื้นที่สปก. แผนการผลิตข้าวครบวงจร โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตลาดสินค้าเกษตรและโครงการยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ รวมถึงงานริเริ่มใหม่ของ กรมส่งเสริมสหกรณ์อีก 12 โครงการและงานตามภารกิจทั่วไป เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายในการปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูปไปจนถึงการตลาด และนำไปสู่เป้าหมายของการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร อันจะนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดี มีความมั่นคง ยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 2.2 การขับเคลื่อนงานนโยบายรัฐบาล 2.2.1 การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) เป็นนโยบายที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ป่าสงวนหวงห้ามของรัฐ เพื่อนำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองได้เข้าอยู่อาศัย พร้อมทั้งนำระบบสหกรณ์เข้ามาพัฒนาพื้นที่ การจัดการเรื่องสาธารณูปโภค ดูแลความเป็นอยู่ พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมด้านอาชีพให้กับชาวบ้านที่เข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินที่ได้รับการจัดสรรจากคทช. ตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นเลขานุการ 2.2.2 นโยบายประชารัฐ ภายใต้โครงการ 1 สหกรณ์การเกษตร 1 หอการค้ามีเป้าหมายในการสนับสนุนให้สหกรณ์ภาคการเกษตรได้รับการพัฒนาด้วยกลไกประชารัฐ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสหกรณ์การเกษตรกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาในด้านการบริหารจัดการและการทำตลาดสินค้าให้กับสหกรณ์ โดยยึดหลัก "การตลาดนำการผลิต" หอการค้านำองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการของภาคธุรกิจ เข้าไปสนับสนุนและพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้กับสหกรณ์การเกษตร โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทำการวิจัย และนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหากสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถดูแลชีวิตความเป็นอยู่ให้กับสมาชิกของตนเองได้แล้ว สหกรณ์จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากของรัฐบาลชุดปัจจุบัน 3. สนับสนุนให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพทำหน้าที่ในการยกระดับคุณภาพสินค้าการเกษตร สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญแบบครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมและองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการในรูปแบบธุรกิจเกษตรที่สมบูรณ์แบบ โดยกรมฯจะคัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพ พร้อมสำหรับการทำหน้าที่เป็นองค์กรที่จะช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าการเกษตรให้แก่เกษตรกรสมาชิก ส่งเสริมให้สมาชิกผลิตสินค้าการเกษตรที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ทั้งผลผลิตประเภท พืชผัก ผลไม้ ข้าว นม ไข่ไก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสินค้าเกษตรแปรรูป เมื่อการผลิตสินค้าเหล่านี้ได้มาตรฐานแล้ว จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีหลากหลาย ตรงกับความต้องการของตลาด และมีการพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามและมีความทันสมัย ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามจะช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคแล้ว ยังต้องช่วยรักษาคุณภาพของสินค้าให้คงทนไม่เกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งด้วย เมื่อสมาชิกสหกรณ์ผลิตสินค้าดีมีคุณภาพและผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว สหกรณ์จะทำหน้าที่ในการหาช่องทางตลาดในการจำหน่ายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและสะดวกรวดเร็ว รู้จักวิธีการบริหารการตลาด ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้าสหกรณ์ให้เป็นที่รู้จัก มีการโปรโมทสินค้าด้วยช่องทางสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เป็นการเข้าสู่ยุคการค้าสมัยใหม่ และสามารถเชื่อมโยงสินค้าสหกรณ์ไทยไปสู่ตลาดโลก 4. พัฒนาข้าราชการ ระบบการทำงานของกรมฯให้รองรับการยกระดับงานด้านสหกรณ์ พัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ให้เป็น Smart Officer เพื่อทำหน้าที่ทั้งด้านการส่งเสริมสหกรณ์ และการติดตามกำกับดูแลสหกรณ์ โดยจะนำองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาถ่ายทอดเพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพให้แก่ข้าราชการ ให้มีความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำหน้าที่ดูแลและสนับสนุนการดำเนินงานสหกรณ์ในด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้สหกรณ์มีการดำเนินงานที่เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด เป้าหมายของการพัฒนาระบบสหกรณ์ในภาพรวมทั้งประเทศ กรมส่งเสริมสหกรณ์คาดหวังว่าเมื่อมีการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ควบคู่กันแล้ว จะส่งผลต่อการพัฒนาระบบสหกรณ์ในภาพรวมทั้งประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ดังนี้ 1. ข้อบกพร่องของสหกรณ์ที่มีอยู่เดิมมีจำนวนลดลง ปัญหาในการดำเนินงานของสหกรณ์ลดลง 2. ป้องกันปัญหาข้อบกพร่องของสหกรณ์ไม่ให้เกิดขึ้นใหม่ 3. สามารถการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนลดลงได้โดยการจัดความสมดุลระหว่างการออมกับหนี้สินให้มีความใกล้เคียงกัน 4. การบริหารงานของสหกรณ์จะต้องยึดหลักธรรมาภิบาล มีความเป็นมืออาชีพในการบริหารงาน คำนึงถึงหลักการสหกรณ์เพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์เป็นหลัก 5. สหกรณ์ภาคการเกษตรทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการช่วยดูแลเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในการพัฒนาอาชีพการเกษตร ดูแลตั้งแต่เริ่มจากการผลิตสินค้าการเกษตรให้ได้มาตรฐาน การรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จนถึงการจัดหาตลาดทั้งในและต่างประเทศมารองรับผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์ 6. สินค้าสหกรณ์ในอนาคตจะต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพผ่านผลิตที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งสหกรณ์ยังเป็นองค์กรหลักในการผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ผัก ผลไม้ ข้าว นม ไข่ไก่ ยางพารา ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และอาหารทะเล 7. เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์จะต้องได้รับการพัฒนาความรู้ที่จำเป็นสำหรับการนำไปกำกับดูแลและให้คำแนะนำแก่สหกรณ์ต่าง ๆ มีมาตรฐานในการปฏิบัติงาน สร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากขบวนการสหกรณ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ