คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ระยะ 3 ปี หนุนรัฐ/เอกชนเตรียมพร้อมใช้งาน Big Data

ข่าวทั่วไป Tuesday October 10, 2017 10:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ เผยคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะ 3 ปี หลังมีการเสนอร่างการดำเนินงานฯ เตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รองรับการใช้งาน Big Data, IoT และ Cloud Computing ในอนาคต สอดรับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 5/2560 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ มีมติเห็นชอบในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ คือ การเห็นชอบในหลัการของร่างแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2561 - 2563) พร้อมการจัดลำดับความสำคัญของร่างแนวทางการดำเนินงานฯ รวมถึงเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องมีการดำเนินการ ตามที่คณะอนุกรรมการนโยบายและผลกระทบเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นำเสนอและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ธอ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาดำเนินการในส่วนขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดของแต่ละคณะอนุกรรมการต่อไป สำหรับกรอบแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ระยะ 3 ปี ประกอบด้วย 1) การอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าของไทยและรองรับการแข่งขันในเวทีโลก 2) พัฒนาการเชื่อมโยงมาตรฐานข้อมูลและการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ 3) พัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย ประกาศ และมาตรการที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 4) เตรียมความพร้อมสำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน (การใช้งาน Big Data, IoT และ Cloud Computing) 5) ปรับเปลี่ยนการทำงานภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนยอมรับการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ 6) สนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ (Open Data) 7) ส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มบริการพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นหรือบริการรูปแบบใหม่ และ 8) สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังได้มีมติเห็นชอบอีก 3 เรื่อง ได้แก่ 1) เห็นชอบการออกใบอนุญาต ให้ บริษัท วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจบริการ e-Payment ในประเทศไทย โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการฯ อนุมัติ และต้องให้บริการภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต ซึ่งต้องมีหนังสือแจ้งไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ทั้งนี้ บริษัท วีซ่าฯ ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจบริการประเภทบัญชี ค (1) คือ ธุรกิจบริการที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนให้บริการ การให้บริการหักบัญชี (Clearing) และบัญชี ค (4) คือ ธุรกิจบริการที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนให้บริการ การให้บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงินหลายระบบ (Transaction Switching) เพื่อจะให้บริการเครือข่ายระบบการชำระเงินในประเทศสำหรับบัตรเดบิตภายใต้แบรนด์ "Visa" แก่สมาชิกทั้งที่เป็น ธนาคาร (Bank) และ ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) โดยรองรับการทำรายการชำระเงินด้วยบัตรเดบิตที่ใช้มาตรฐานชิปการ์ดกลางของไทย ผ่านช่องทางเครื่องรูดบัตร (EDC) และช่องทางออนไลน์ (ธุรกรรม e-Commerce) 2) เห็นชอบแนวนโยบายและแนวปฏิบัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ 10 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานอัยการสูงสุด กรมราชทัณฑ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน องค์การคลังสินค้า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกองทัพบก ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการความมั่นคงปลอดภัยมาก่อนแล้ว โดยเป็นไปตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ. 2549 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ต้องจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯจึงจะมีผลใช้บังคับได้ ซึ่งได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการความมั่นคงปลอดภัย ทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งให้คณะกรรมการฯ พิจารณา ปัจจุบันคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบไปแล้วทั้งสิ้น 140 หน่วยงาน และ 3) เห็นชอบแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เนื่องจากได้ผ่านการพิจารณาของฝ่ายเลขานุการฯ ตามหลักเกณฑ์การตรวจพิจารณา แนวนโยบายและแนวปฏิบัติ ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศฯ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ. 2549 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ที่มีการรวบรวม จัดเก็บ ใช้ ข้อมูลส่วนบุคคล (ของผู้ใช้บริการ) ต้องจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ จึงจะมีผลใช้บังคับได้ ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบในกรณีดังกล่าวไปแล้วทั้งสิ้น 10 หน่วยงาน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ข้างต้นมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นไปตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ