เผยผลการประเมินโครงการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้มาตรการ มพช.

ข่าวทั่วไป Friday September 7, 2001 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
เผยผลการประเมินโครงการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้มาตรการ มพช. พบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความพร้อมและเข้มแข็งในหลายด้าน แต่ยังมี อบต.บางแห่งไม่สนใจควบคุมด้านบัญชีและทรัพย์สิน ตลอดจนการตรวจสอบความโปร่งใส ขณะกิจกรรมหลายด้านยังถูกครอบงำจากการเมืองท้องถิ่นและอิทธิพล
จากการติดตามประเมินผลของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการพัฒนาขีความสามารถให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้โครงการมาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) ระยะ 3 เดือน ภายใต้การกำกับของสำนักงบประมาณ พบว่า องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเกินกว่าร้อยละ 90 ได้ดำเนินการจัดจ้างบุคลากรของโครงการได้ครบถ้วนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
ด้านบทบาทของบุคลากรในโครงการ มพช. ที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น จากการประเมินพบว่า การมีส่วนรวมของประชาชนในทุก อบต. อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี กล่าวคือ ประมาณกว่าร้อยละ 50 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องของการเสนอความต้องการและการวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนชุมชน
ส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอความต้องการนั้น กว่าร้อยละ 87.9 จะใช้วิธีแสดงความต้องการในประชาคมหมู่บ้าน/ตำบล และการที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนชุมชน โดยผ่านวิธีการประชาคมหมู่บ้าน/ตำบลถึงร้อยละ 88.7
ในการประเมินครั้งนี้ ยังพบข้อด้อยของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการควบคุมการจัดทำบัญชีและการใช้ทรัพย์สินขององค์กรน้อยมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้าน จึงทำให้ประชาชนให้ความสนใจน้อยมาก รวมไปถึงการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารงานของ อบต. ที่ไม่ได้รับความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้เท่าไรนัก
ส่วนการจัดทำระบบบัญชีแบบพึงรับพึงจ่าย นั้น พบว่า อบต.บางแห่งในเขตภาคเหนือได้เริ่มมีการใช้งานแล้ว แต่ในขณะนี้ได้ชะลอการใช้ระบบดังกล่าว เนื่องจากมีคำสั่งจากกรมการปกครองออกไปจนถึงเดือนมีนาคม 2545 เพื่อรอให้มีการอบรมทำความเข้าใจแก่ อบต.ให้ครบถ้วนเสียก่อน
ในส่วนของ อบต.ที่มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของท้องถิ่น พบว่ามี อบต.ที่โดดเด่น คือ อบต.ในอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการได้ครบ 100% ที่เป็นกิจกรรมพัฒนาฐานข้อมูลชุมชน เพื่อการจัดทำแผนพัฒนาตำบล และ อบต.ในอำเภอขนอม จังหวัดสุราษฏร์ธานี ดำเนินการได้ร้อยละ 90 จะเป็นการสร้างระบบฐานข้อมูลเรื่องภาษี สวัสดิการคนชรา เด็ก คนพิการและข้อมูลพื้นฐานอื่น ๆ
ส่วนการประเมินด้านขีดความสามารถในการบริหารงานขององค์กรด้านพัสดุนั้น พบว่า การดำเนินการสำรวจออกแบบด้านช่างของโครงการ ยังมีความขัดแย้งกับประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดิน รวมถึงการดำเนินการตรวจการจ้างของโครงการ ที่กรรมการตรวจรับงานยังมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตน
กระนั้นก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าสังเกต คือ การเมืองท้องถิ่นมีความรุนแรงและมีอิทธิพลต่อการดำเนินงานของท้องถิ่น และของ อบต.ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก ส่งผลให้การบริหารงาน และการดำเนินกิจกรรมของท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นประโยชน์เฉพาะต่อคนเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น
ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
โทร.0-2279-8001,0-279-7937 และ 0-2616-2270-1--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ