มาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 (เพิ่มเติม)

ข่าวทั่วไป Wednesday November 1, 2017 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 (เพิ่มเติม) ประกอบด้วย 2 มาตรการโดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลร่วมกันบริจาคเงินหรือทรัพย์สินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้มากยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่านส่วนราชการ กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี องค์การหรือสถานสาธารณกุศล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากร ในระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 – 31 ธันวาคม 2560 ให้สามารถมาหักเป็นค่าลดหย่อน/รายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจากสิทธิการหักรายจ่ายตามปกติอีกเป็นจำนวนร้อยละ 50 ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย และมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 2. มาตรการจ้างงานผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ในการปรับปรุง ซ่อมแซม ที่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้หน่วยงานต่าง ๆ พิจารณาจ้างงานผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี พ.ศ. 2560 ตามความเหมาะสม โดยประสานขอข้อมูลผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐมายังศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลัง นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เช่น เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ดินราชพัสดุที่ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติ มาตรการด้านการเงินที่ดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งการให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย การพักชำระหนี้ การผ่อนผันและการประนอมหนี้ รวมถึงการบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการเร่งประสานการชดเชยค่าสินไหมทดแทน กรณีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ ผ่านทางหน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้โดยตรง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ