ก.แรงงาน รับลูก BOI จัดแผนฝึกตามดีมานด์ ป้อน EEC

ข่าวทั่วไป Monday November 6, 2017 11:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก.แรงงาน รับลูก BOI จัดแผนฝึกตามความต้องการของตลาด หวัง 5 ปี ผลิตแรงงานฝีมือป้อนพื้นที่ EEC 2.3 ล้านคน นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้า จะมีนักลงทุนเข้าไปลงทุนใน EEC เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดบอร์ดบีโอไอพิจารณาส่งเสริมการลงทุน 3 กิจการใหญ่ ได้แก่ กิจการผลิตรถยนต์ ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กิจการเขตอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมบริการสาธารณูปโภคและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรี และกิจการผลิตเส้นใยไฟเบอร์กลาส (Fiberglass Roving) ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ซึ่งก่อนหน้านี้บีโอไอได้ส่งเสริมการลงทุนในกิจการประกอบรถจักรยานยนต์ และกิจการขนส่งทางรางด้วย การส่งเสริมการลงทุน จึงมีส่วนสำคัญช่วยให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจก่อสร้าง ภาคธุรกิจบริการ และภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบกิจการที่ทำการผลิตที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมวางแผนการผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวและต้องการคนทำงานที่มีทักษะในด้านต่างๆ มากขึ้นไปด้วย โดยรัฐบาลได้กำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor--EEC) ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รองรับการเป็นฐานการผลิต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต (New Engine of Growth) ขณะเดียวกันกพร. ได้มีการตอบสนองการพัฒนากำลังคนด้วยการวางแผนระยะยาวระหว่าง ปี 2560-2564 ในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับการเติบโตของ EEC ตามยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคน 20 ปี กระทรวงแรงงาน โดยร่วมกับหลายภาคส่วนเป็นหน่วยงานรองรับแผนปฏิบัติการดังกล่าว อาทิ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy: MARA)เพื่อพัฒนาศักยภาพคนทำงานในอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก แม่พิมพ์ เป็นต้น โดยเน้นพัฒนาทักษะได้มาตรฐาน เพิ่มทักษะการทำงานที่ต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ทดแทนการผลิตแบบเดิม การเขียนโปรแกรม ความรู้และทักษะการซ่อมบำรุง ที่ผ่านมามีการฝึกอบรมทักษะอาชีพระยะสั้นให้กับนักศึกษาอาชีวะในระบบทวิภาคี ระดับปวส.ปีที่ 2 ระหว่างปิดภาคเรียน ในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติในการทำงานตรงกับความต้องการของสถานประกอบกิจการ นอกจากนี้ได้มีการดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับคนทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดไปแล้วกว่า 420,000 คน ในช่วงปี 60 และยังได้ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเชีย และสถาบันยานยนต์ จัดตั้ง TVET AUTOMOTIVE HUB ณ MARA ชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากร และพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับกับความต้องการแรงงานด้วย สำหรับในเขตจังหวัดระยอง กพร.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันไทย-เยอรมัน และกลุ่มบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) และสถานประกอบกิจการในเขตนิคมอุตสาหกรรม 500 แห่ง จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรมเหมราช (ระยอง) เพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมให้แก่แรงงานในสาขายานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ พัฒนาทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้กับบุคลากรในสถานประกอบกิจการ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งแรงงานได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือที่ได้มาตรฐาน ในปี 60 พัฒนาคนทำงานในพื้นที่ไปแล้ว 104,549 คน นอกจากนี้ยังได้ฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีชั้นสูงให้กับคนทำงานในภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงงานที่สำคัญที่จะไปทำงานในเขต EEC อีกด้วย กพร.ได้วางแผนการดำเนินงานใน 5 ปี ผลิตแรงงานฝีมือป้อน EEC สู่ไทยแลนด์4.0 ถึง 2,330,000 คน ทั้งส่วนที่ดำเนินการเองและส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการด้วย อธิบดีกพร. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ