ฟิทช์คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิตที่ 'BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 8, 2017 18:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength: IFS) และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS) ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL ที่ 'BBB+' (หรืออยู่ในระดับ "ดี") และ 'AAA(tha)' ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต การคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศของ MTL สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจประกันชีวิตที่ดี อัตราส่วนเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ระดับความเสี่ยงด้านการลงทุนที่อยู่ในระดับไม่สูงนัก และฐานะทางการเงินที่แข็งแรง อย่างไรก็ตามอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลของ MTL ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยที่ 'BBB+' และต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลของบริษัทในกรณีที่ไม่ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศที่ 'A-' อยู่ 1 อันดับ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของ MTL จะไม่สามารถอยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยได้เนื่องจากบริษัทมีการถือครองตราสารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจไทยในระดับสูง (67% ของมูลค่าตราสารหนี้รวมที่บริษัทถือครอง) และยังมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศที่ค่อนข้างน้อย MTL มีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งโดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเบี้ยประกันชีวิตรับรวมใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ 19.5% ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นจากอันดับที่สองเมื่อสิ้นปี 2559 ที่ 17.1% MTL ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดของการขายกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่านเครือข่ายธนาคาร (Bancassurance) สูงที่สุดในประเทศที่ 28% เนื่องจาก MTL สามารถขายผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายสาขาที่มีขนาดใหญ่ของ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทได้ ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายในการรักษาฐานะเงินกองทุนอย่างระมัดระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของบริษัทและเพื่อรองรับเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่สองของประเทศไทยซึ่งจะกำหนดการดำรงเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงในด้านต่างๆในระดับที่สูงขึ้น MTL มีฐานะเงินกองทุนที่มั่นคงโดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฏหมายที่ 403% ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2560 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่ 140% อยู่มาก อีกทั้ง MTL ยังคงมีเงินกองทุนที่ประมาณการจากแบบจำลอง Prism Factor-Based Capital Model (Prism FBM) ของฟิทช์อยู่ในระดับแข็งแกร่ง ('Strong') โดยใช้ข้อมูลทางการเงิน ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2560 และเป็นระดับเดียวกันกับในปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่า MTL จะยังคงมีนโยบายลงทุนอย่างระมัดระวังและมีการควบคุมการลงทุนที่ดีอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังคงรักษาสัดส่วนเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยมีสัดส่วนเงินลงทุนในตราสารหนี้และเงินสดประมาณ 85% ของเงินลงทุนรวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2560 และส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจไทย โครงสร้างความเสี่ยงจากการลงทุนโดยรวมยังคงอยู่ในระดับเดิม โดยการลงทุนในตราสารทุนยังคงมีสัดส่วนที่ 10% ของเงินลงทุนรวม ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะไม่เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ด้านการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้น ผลการดำเนินงานและผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดียังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง โดยสะท้อนได้จากอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ 21% และอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์ที่ 3% ในปี 2559 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่ามัธยฐานของฟิทช์สำหรับบริษัทประกันชีวิตที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลที่ระดับ 'A' ฟิทช์เชื่อว่าความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งมีปัจจัยสนับสนุนจากช่องทางการขายที่แข็งแรง การออกแบบผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่ดี MTL สามารถลดความแตกต่างด้านระยะเวลาระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน (Duration Gap) ลงเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย และฟิทช์คาดว่าบริษัทจะยังคงนโยบายการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset-Liability Management) ที่เข้มงวดต่อไป ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้แก่ - การปรับตัวลดลงของสัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (RBC) มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 250% และ การปรับตัวแย่ลงของระดับเงินกองทุนของบริษัทซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism FBM เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง - การปรับตัวลดลงของความสามารถในการทำกำไรซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์ที่ต่ำกว่า 1% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง - การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local-Currency IDR) ของประเทศไทยที่ 'BBB+'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ MTL ไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลของบริษัทอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยที่ 'BBB+' และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศที่ 'AAA(tha)' เป็นอันดับเครดิตที่สูงที่สุดแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ