ฟอร์ด สนับสนุนภาครัฐ จัดแข่งขัน “หุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย”ทีมชนะเลิศได้สิทธิ์ไปแข่งที่ญี่ปุ่น

ข่าวทั่วไป Monday October 29, 2001 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย)
บริษัท ฟอร์ด โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด มอบทุนสนับสนุนจำนวน 1 ล้านบาท ให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคม วิชาการหุ่นไทย เพื่อใช้จัดการแข่งขัน “หุ่นยนต์อัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย” เปิดโอกาสให้ เยาวชนไทยได้เข้าแข่งขัน เฟ้นหานักประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีระบบควบคุมอัตโนมัติที่ทันสมัย ผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันในงาน “มหกรรมหุ่นยนต์นานาชาติ (Robo Feasta)” ณ ประเทศญี่ปุ่น
นายฉัตรชัย บุนนาค ประธานบริษัท ฟอร์ด โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) กล่าวถึงการสนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์ในครั้งนี้ว่า “ฟอร์ดรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นฐาน การเป็นนักคิดนักประดิษฐ์ของเยาวชนไทย ประเทศไทยยังขาดเวทีที่จะเปิดโอกาส ให้ลูกหลานของเราได้แสดงความสามารถที่ซ่อนอยู่ภายใน และการแข่งขันในครั้งนี้คือโอกาสที่เปิดขึ้น โดยหน่วยงานของรัฐที่มองไปถึงอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี ที่นับวันจะทวีความความสำคัญ และมีบทบาทในการพัฒนาความเจริญของโลกใบนี้ ซึ่งฟอร์ดหวังว่าการสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ จะมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องในอนาคต ไปจนถึงระดับที่เราสามารถสร้างเทคโนโลยีของเราเองขึ้นมา ให้ทัดเทียมกับประเทศผู้ผลิต ชั้นนำ อันจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการลดการขาดดุลการค้า และยังจะสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศของเราได้อีกทางหนึ่งด้วย”
การแข่งขัน “หุ่นยนต์อัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้เกิดความชำนาญกับกลไกอิเล็กทรอนิกส์ การประกอบหุ่นยนต์ และการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากห้องเรียนมาสร้างเป็นงานจริง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการผลิตในอนาคต โดยทีมชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน ณ ประเทศญี่ปุ่น และยังมีโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์จากประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมแข่งอีกด้วย ซึ่งความรู้ที่ได้จะนำมาใช้พัฒนาและปรับปรุงแก้ไขหุ่นยนต์ในอนาคต ถือได้ว่าเป็นความรู้นอกห้องเรียนที่มีคุณค่ายิ่ง
รูปแบบการแข่งขันหุ่นยนต์ยอดอัจฉริยะ เปิดกว้างสำหรับผู้สนใจ โดยแต่ละทีมต้องมีสมาชิกไม่เกิน ทีมละ 3 คน สัญชาติไทย ไม่จำกัดอายุ และระดับการศึกษา ผู้เข้าแข่งขันจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ทำงานแบบอัตโนมัติไม่มีคนควบคุมทีมละ 1 ตัว โดยหุ่นยนต์จะต้องสามารถเก็บลูกบอลที่จัดวางไว้แบบสุ่ม 16 ลูก และส่งไปยังประตูเป้าหมายจะโดยวิธีใดๆ ก็ได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด การให้คะแนนนับจากจำนวนลูกบอลที่ส่งไปยังเป้าหมายได้สำเร็จ
การแข่งขันในปีนี้ มีทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 137 ทีม ผ่านเข้ารอบสุดท้ายชิงชนะเลิศ 24 ทีม โดยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จะจัดขึ้น ในวันที่ 27-28 ตุลาคม 2544 เวลา 11.00 — 17.00 น. ณ ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต
รางวัลสำหรับผู้ชนะการแข่งขันแบ่งออกเป็น
รางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันในงาน “มหกรรมหุ่นยนต์นานาชาติ” ประเทศญี่ปุ่น
รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม 30,000 บาท
รางวัลความคิดสร้างสรรค์ 20,000 บาท
รางวัลความคิดพิสดาร 20,000 บาท
ดร.ชิต เหล่าวัฒนา นายกสมาคมวิชาการหุ่นไทย และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพัฒนา หุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า “ผมขอขอบคุณบริษัท ฟอร์ด ที่ได้ให้ความสำคัญต่อกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ของสมาคมฯ บริษัทเช่นนี้ถือว่าเป็นตัวอย่าง “บริษัทที่อุทิศตัวให้กับสังคม” ที่รัฐบาลไทยควรยกย่อง เพราะนอกจากมาดำเนินธุรกิจสร้างงานให้แก่ประเทศแล้ว ยังให้การสนับสนุนด้านการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย”--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ