ฟิทช์: การแข่งขันและสื่อออนไลน์ยังคงเป็นความท้าทายหลักของธุรกิจทีวีไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 23, 2017 10:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโทรทัศน์จะยังคงเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันที่รุนแรงและแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการย้ายฐานผู้ชมไปยังสื่อออนไลน์มากขึ้น ความท้าทายเหล่านี้จะจำกัดศักยภาพในการเติบโตของรายได้และกำไรของผู้ประกอบการธุรกิจโทรทัศน์ ในปี 2561 ฟิทช์เชื่อว่าการแข่งขันจะยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของกระแสเงินสดของผู้ประกอบการธุรกิจโทรทัศน์ในปี 2561 โดยคาดว่ากลุ่มธุรกิจโทรทัศน์จะมีการเพิ่มการใช้จ่ายในการผลิตและจัดหารายการเพื่อช่วงชิงเรตติ้งของช่อง โดยคาดว่ากลุ่มผู้ประกอบการโทรทัศน์รายเดิม ได้แก่ ช่อง 3, ช่อง 7, ช่อง 9, และช่อง 5 น่าจะยังคงมีผลประกอบการแย่ลงจากการสูญเสียส่วนแบ่งค่าโฆษณาให้กับผู้ประกอบการโทรทัศน์รายใหม่ ทั้งนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของผู้ประกอบการโทรทัศน์รายใหม่ก็น่าจะไม่เติบโตมากนัก เนื่องจากการลงทุนเพื่อเพิ่มฐานผู้ชมน่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของรายได้ค่าโฆษณา อย่างไรก็ตาม มติเห็นชอบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการปรับลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการทำประชาพิจารณ์ และคาดว่าจะมีผลในปลายเดือนธันวาคม 2560 นั้น น่าจะช่วยลดความกดดันทางด้านต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้บ้าง ฟิทช์คาดว่าจะมีเพียงไม่กี่ช่องในจำนวน 16 ช่องของผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลรายใหม่ที่จะสามารถรักษาความแข็งแกร่งในด้านการผลิตและจัดหารายการ, เรตติ้งของช่อง, และการเติบโตของรายได้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2561 ซึ่งช่องรายการเหล่านี้ประกอบด้วย ช่องเวิร์คพอยท์ทีวี (โดยบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)), ช่องโมโน (โดย บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)), ช่อง 8 (โดย บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)), และช่องวัน (โดยกลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)) แม้ว่ารายได้ค่าโฆษณาของธุรกิจสื่อของไทยจะลดลงในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2560 รายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมของผู้ประกอบการช่องทีวีเหล่านี้ยังคงเติบโตสูง ในอัตราร้อยละ 21 และร้อยละ 216 ตามลำดับ ช่องทางการให้บริการสื่อวิดีโอออนไลน์จากต่างประเทศ เช่น YouTube, LINE, และ Facebook จะมีส่วนแบ่งค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า โดยเป็นการแย่งส่วนแบ่งจากสื่อดั้งเดิมอื่นๆ รวมถึงโทรทัศน์ ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการทีวีจะมีการนำรายการของตนไปลงสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องหาวิธีการสร้างรายได้จากรายการบนสื่อออนไลน์ดังกล่าวให้ได้มากขึ้น เนื่องจาก ณ ปัจจุบันอัตราค่าโฆษณาต่อการรับชมบนสื่อออนไลน์เหล่านี้ยังต่ำกว่าอัตราค่าโฆษณาบนสื่อทีวีอย่างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ