อาราบัส สปีด หนุน สคอ.-สสส. รณรงค์ “ง่วงไม่ขับ ไป-กลับปลอดภัย” แจกกาแฟ ฟรี! ปีใหม่ 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday December 27, 2017 08:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--ดัชมิลล์ ลุยสนับสนุนกาแฟ อาราบัส สปีด ฟรี แก่นักเดินทางทั่วไทย พร้อมเผยเคล็ด (ไม่) ลับ 10 วิธี ตัวช่วยจัดการความง่วง อยู่หมัด บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกาแฟอาราบัส สปีด นำทีมโดย นางมธุวลี สถิตยุทธการ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ พร้อมทัพพนักงานบริษัทฯ เตรียมลุยสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต และอีก 4 จุดบริการประชาชน กรมทางหลวง นำเครื่องดื่มกาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม อาราบัส สปีด แจกจ่ายประชาชนที่จะเดินทางกลับต่างจังหวัด ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ถึง 4 มกราคม 2561 ภายใต้กิจกรรม "ง่วงไม่ขับ ไป-กลับ ปลอดภัย" ที่กลุ่ม บริษัท ดัชมิลล์ ได้ให้การสนับสนุนสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) มาอย่างต่อเนื่อง โดย นางมธุวลี สถิตยุทธการ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการทำกิจกิรรมร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ด้วยการสนับสนุน "ง่วงไม่ขับ" ในหลายมิติ อาทิ ร่วมสนับสนุนงานสัมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา และมีนโยบายดำเนินการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเตือนการใช้รถใชถนนอย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็นการคืนกำไรให้กับสังคม ที่ทางบริษัทฯ ปฏิบัติตลอดมา "ที่ผ่านมา มีข้อมูลว่าอาการหลับในหรือง่วงแล้วขับ คือ หนี่งในสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยพบว่ามีตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการร่วมรณรงค์โครงการ "ง่วงไม่ขับ ไป-กลับปลอดภัย" ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 นี้ เราเองในฐานะเป็นผู้จำหน่ายกาแฟพร้อมดื่มสำเร็จรูป อาราบัส สปีด ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า กาแฟ มีส่วนช่วยให้ร่างกายตื่นเมื่อรู้สึกง่วงนอน นอกเหนือจากการพักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง จึงมีแนวคิดนำผลิตภัณฑ์ที่เราจำหน่ายอยู่ในตลาดมามอบให้กับพี่น้องชาวไทยได้รับประทาน หรือนำติดตัวไปรับประทานเมื่อรู้สึกอ่อนล้าขณะเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางช่วงเทศกาล ซึ่งเป็นวันหยุดยาว การจราจรติดขัดอาจทำให้ผู้ขับขี่ง่วง และเกิดอาการหลับในได้ ซึ่งอันตรายอย่างยิ่ง ทำให้เสียชีวิต เสียทรัพย์ และผิดกฏหมาย " ด้านนายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) กล่าวว่า "การหลับ" เกิดขึ้นเอง และอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ เนื่องจากเมื่อเกิดอาการง่วงแล้วจะไม่สามารถบังคับไม่ให้หลับ หรือบังคับให้หลับเวลานั้นเวลานี้ไม่ได้ หากผู้ขับเกิดง่วงจะมีโอกาสหลับใน (Micro Sleep) ซึ่งเป็นการวูบหลับที่ใช้เวลาเพียง 3 – 5 วินาที ที่สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงชีวิตได้ "การหลับไม่เพียงพอ เพียงคืนละ 1 ชั่วโมง จะเกิดภาวการณ์อดนอนสะสม (Sleep Debt) และความง่วงในเวลากลางวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนชั่วโมงที่อดนอน ยิ่งหากดื่มเครื่องมึนเมาเข้าไปยิ่งอันตราย เพราะแอลกอฮอล์เป็นอันตรายสำหรับคนที่อดนอน การดื่มสุราเพียงแก้วเดียวทำให้บุคคลนั้นหลับง่ายขึ้น" อย่างไรก็ตาม จากเอกสารการศึกษาเรื่อง "ง่วงไม่ขับ" ของ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ พบว่าระดับการตื่นตัวของคนในรอบ 24 ชั่วโมง แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ตื่นมาแล้วกี่ชั่วโมงในวันนั้น ระดับการตื่นตัวจะลงลงเรื่อยๆ ตามจำนวนชั่วโมงที่ตื่นมาแล้ว เวลานั้นนาฬิกาชีวภาพส่งสัญญาณมาปลุกสมอง ให้ตื่นหรือไม่ นาฬิกาจะหยุดปลุกช่วงบ่ายหลังอาหารเที่ยงและหลังเที่ยงคืน จำนวนชั่วโมงที่อดนอนสะสมวันก่อนๆ ที่ผ่านมา กิจกรรมที่กำลังทำอยู่ และสภาพแวดล้อม แต่หากรู้สึกง่วงให้ลองใช้ 10 วิธีจัดการกับความง่วง ดังต่อไปนี้ 1. ถ้าง่วงนอน ให้นอน จอดพักเพื่องีบสัก 15-20 นาทีก็พอ อย่านานกว่านี้เพราะสมองจะมึน ไม่สดชื่น 2. ดื่มกาแฟ เทคนิคคือให้ดื่มก่อนที่จะงีบ เนื่องจากกาแฟไม่ได้ออกฤทธิ์ทันที แต่จะออกฤทธิ์ให้หลังเมื่อ 10-15 นาทีไปแล้ว วิธีนี้เราจะตื่นพอดี และสดชื่นทันก่อนออกรถอีกครั้ง 3. ร้องเพลง อย่าฟังเฉยๆ ให้ร้องตามไปด้วย เมื่อปากขยับแล้ว จะไม่ง่วง 4. เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือของขบเคี้ยวอื่น วิธีนี้ก็ช่วยให้ปากขยับ ส่งสัญญาณไปไล่ความง่วง 5. จอดพักบ่อยๆ ยืดแข้งยืดขา ล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น 6. อย่าขับยาว บางคนขับข้ามจังหวัดทีละหลายชั่วโมง ร่างกายล้าและจะหลับในไม่รู้ตัว 7. หลีกเลี่ยงการขับรถช่วง 24.00 – 07.00 น. และ 14.00 - 16.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงที่นาฬิกาในร่างกายส่งสัญญาณให้พักผ่อน อุบัติเหตุถึงตายส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน 2 ช่วงดังกล่าว 8. งดกินยาที่ทำให้ง่วง 9. งดดื่มแอลกอฮอล์คืนก่อนเดินทาง 10. ถ้าสงสัยว่ามีโรคประจำตัวที่ทำให้ง่วง ปรึกษาแพทย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ