โลกสดใสไร้ควันบุหรี่ รางวัลชนะเลิศ โครงงานคอมพิวเตอร์ระดับประเทศจาก สสวท.

ข่าวทั่วไป Thursday September 13, 2007 09:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--สสวท.
รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ได้รณรงค์ให้งดสูบบุหรี่ กระทรวงศึกษาธิการก็มีโครงการโรงเรียน สีขาว อีกทั้งจัดให้มีโครงการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในสถานศึกษา
แม้ว่าโรงเรียนจะมีโครงการรณรงค์งดสูบบุหรี่ภายในโรงเรียน แต่ยังมีนักเรียนที่ฝ่าฝืนแอบสูบบุหรี่ตามห้องน้ำของโรงเรียน ปัญหานี้มีมานานแล้ว และเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขได้ไม่หมดสักที ฝ่ายปกครองไม่สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
นายสมิทธิ์ เคร่งครัด และนายอนุวัฒน์ จันมะโน ชั้น ม. 6 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง จึงได้จัดทำโครงงานคอมพิวเตอร์ “ โลกสดใส ไร้ควัน..บุหรี่ ” (Smoking Alarm System) หรือระบบสัญญาณเตือนการสูบบุหรี่ขึ้น โดยมีคุณครูอรุณี ทองย้อย เป็นที่ปรึกษาโครงงาน โครงงานนี้เพิ่งคว้า รางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันโครงงานคอมพิวเตอร์ประเภทประยุกต์ใช้งาน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เมื่อในวันที่ 1 สิงหาคม 2550
เครื่องมือ และ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ ประกอบด้วย อุปกรณ์ควบคุมไมโครคอนโทรเลอร์ (Sci-box)
โปรแกรมภาษา P-Basic โทรศัพท์มือถือ โปรแกรม Visual Basic 6.0
โครงงานนี้อาศัยหลักการตรวจจับความร้อนของก้นบุหรี่ ตรวจจับควันของบุหรี่ โดยนำอุปกรณ์ (Sci-box) ตรวจจับความร้อน และ ควัน ไปติดตั้งตามสถานที่ที่เป็นบริเวณที่เกิดปัญหา หรือ สถานที่ห้ามสูบบุหรี่ เมื่อมีผู้สูบบุหรี่ในบริเวณนั้น อุปกรณ์จะทำการตรวจจับความร้อนของก้นบุหรี่ และ ควัน หากตรวจจับได้ อุปกรณ์จะส่งเสียงสัญญาณเตือน ภายในเวลาที่กำหนด เช่น 30 วินาที ฯ หากผู้สูบเลิกสูบ สัญญาณจะยุติลง แต่หากยังไม่หยุดสูบ และ ยังตรวจจับควันได้อยู่อยู่ อุปกรณ์จะส่งสัญญาณพร้อมส่งสัญญาณภาพ เป็น SMS เข้ามือถือของผู้รับผิดชอบ ให้มาดำเนิน ตรวจจับ /ปรับ ต่อไป
หลักการทำงาน ทางเข้าของอนุภาคควัน มีลักษณะเป็นกรวยที่ใช้ต้อนอนุภาคของควันให้เข้าในท่อตรวจจับควันบุหรี่ อุปกรณ์ควบคุมการทำงาน จะเป็นตัวควบคุมการทำงานต่างของระบบทั้งอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน อุปกรณ์ตรวจจับควัน สัญญาณเตือนเมื่อยังฝ่าฝืนอยู่ และ จะส่งสัญญาณไปเตือนที่ หน้าจอแสดงผลที่ห้องควบคุม และส่งสัญญาณไปยังห้องควบคุม และเป็นตำแหน่งที่ติดตั้ง sci-box อีกด้วย กล้องสอดแนม เป็นกล้องที่ใช้ในการตรวจจับใบหน้า และบริเวณของการกระทำความผิด
ระบบการทำงานของอุปกรณ์ตรวจจับก็คือเมื่ออุปกรณ์ตรวจจับควันตรวจพบละอองของควัน และเมื่อมีอนุภาคควันมาบังแสงของหลอด LED จะทำให้แรงดันจาก LDR เปลี่ยนไป เมื่อระดับแรงดันของไฟฟ้าเปลี่ยนไปจนเกินกว่ากำหนด เครื่องก็จะส่งสัญญาณออกไปทางขาสัญญาณ ชุดคำสั่งในเครื่องรับ
สัญญาณ (คอมพิวเตอร์) ก็จะทำการส่ง SMS และ เปิดสัญญาณเตือนให้ทางห้องควบคุมและเริ่มต้นแสดงภาพบริเวณสถานที่ที่ตรวจพบ เพื่อให้ผู้ดูแลเข้าไปควบคุม
หนุ่มน้อยทั้งสองคน ได้สรุปผลการพัฒนาโครงงานให้ฟังว่า “ในการทดลองจริง พบว่า ตัวแปรที่กระตุ้นการทำงานของอุปกรณ์ตรวจจับนั้น ไม่แน่นอน บางครั้งมีมากเกินไป บางครั้งมีน้อยเกินไป ทำให้อุปกรณ์ไม่ทำงานตามคำสั่งที่ตั้งไว้ อีกทั้งความชื้นในสถานที่ ส่งผลให้ Microcontroller มีปัญหา ทำงาน ได้ช้าลง รวมทั้งการเสียหายของบอร์ดจนกระทั่งหยุดการทำงาน รวมถึงเรื่องพลังงาน ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ตัวอุปกรณ์ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องปรับปรุงอุปกรณ์ไปตามสถานที่ที่ทดสอบ รวมทั้งระบบการแจ้งข้อมูลยังไม่เสถียรเท่าที่ควร มีการผิดพลาดของ โปรแกรมที่ใช้เล็กน้อย ส่งผลให้ข้อความส่งไปไม่ถึง”
ทั้งนี้ ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ ก็คือ บอร์ดไม่สามารถทำงานได้เพราะระบบเกิดการขัดข้อง อุปกรณ์ตรวจจับไม่สามารถทำงานได้บางครั้ง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกำลังไฟไม่ถึง หรือเป็นผลจาก บอร์ดที่ไม่ ทำงาน และมีความแปรผันกับปริมาณควันสูง เนื่องจากความละเอียดของ Sencer ไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร และโปรแกรมในบางครั้งไม่สามารถทำงานได้ในบางสภาวะ
“สำหรับแนวทางในการพัฒนาโครงงานครั้งต่อไปนั้น สามารถพัฒนาให้อุปกรณ์มีความแม่นยำ มากขึ้น ทำงานได้ทุกสภาวะ ให้มีขนาดเล็กลง และใช้อุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานมากขึ้นครับ” เด็กเก่งทั้ง สองคนกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ