ก.ล.ต. ภาคทัณฑ์ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ 3 ราย กรณีเงินกู้นอกระบบ

ข่าวทั่วไป Tuesday March 29, 2005 09:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ก.ล.ต.
ผลจากการตรวจสอบกรณีเงินกู้นอกระบบ ก.ล.ต. ภาคทัณฑ์ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ 3 ราย และสั่งพักเจ้าหน้าที่การตลาด 1 ราย พร้อมย้ำผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ต้องกำกับดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานบริษัทและให้ความร่วมมือทางการ เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบโดยรวม
สืบเนื่องจากข่าวเงินกู้นอกระบบที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาในช่วงปลายเดือนเมษายน 2547 ซึ่ง ก.ล.ต. ได้กำชับให้บริษัทหลักทรัพย์ทุกบริษัทพิจารณาวงเงินให้เหมาะสมกับฐานะของลูกค้า หาทางป้องกันการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ จัดให้มีระบบตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหา และสื่อสารให้พนักงานบริษัทสอดส่องดูแลในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบและสั่งการให้บริษัทหลักทรัพย์ในอำเภอหาดใหญ่จำนวน 12 ราย ดำเนินการสอบสวนและพิจารณาลงโทษพนักงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้ง
ผลให้ ก.ล.ต. ทราบ
สรุปผลความคืบหน้าการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ในเรื่องเงินกู้นอกระบบมีดังนี้
1. บริษัทหลักทรัพย์ 12 แห่งได้ทบทวนลดวงเงินและปิดบัญชีการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้ารวมจำนวน 215 ราย
2. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ก.ล.ต. ได้สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การตลาด 1 ราย (นายวิวัฒน์ เจียมวิทยานุกูล) เป็นเวลา 1 ปี
3. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2548 ก.ล.ต. ภาคทัณฑ์ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์รวม 3 ราย เป็นเวลา 3 ปี ดังนี้
นายสุชาย สุทัศน์ธรรมกุล กรรมการผู้จัดการ และนายสุรพงษ์ จุลมนต์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กรณีไม่ติดตามและตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการชำระค่าซื้อหลักทรัพย์แทนลูกค้าที่พนักงานบริษัทรายงาน ก่อนส่งให้ ก.ล.ต.
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กรณีไม่สอบสวนและดำเนินการลงโทษพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการชำระค่าซื้อหลักทรัพย์แทนลูกค้าตามการสั่งการของ ก.ล.ต.
อนึ่ง เพื่อความเป็นธรรมและโปร่งใส ก.ล.ต. ได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 3 ราย ชี้แจง โดยได้ปรึกษาหารือกับคณะทำงานวินัยผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ในการพิจารณาความผิดและ ก.ล.ต. ได้ลงโทษบุคคลดังกล่าวโดยการภาคทัณฑ์ ซึ่งหากภายในระยะเวลา 3 ปี บุคคลดังกล่าวมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อีก ก.ล.ต. จะดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไป
มาตรการนี้เป็นการเตือนย้ำว่า ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่กำกับดูแลพนักงานบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่า มีความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และจะต้องมีระบบติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานบริษัทที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะต้องให้ความสำคัญกับการให้ความร่วมมือกับทางการ--จบ--

แท็ก หาดใหญ่   ก.ล.ต.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ