แชมป์บาร์เทนเดอร์ประเทศไทย 2007 เปิดมิติใหม่ของคนหลังบาร์

ข่าวทั่วไป Tuesday September 25, 2007 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
รางวัลที่ยิ่งใหญ่ “แชมป์บาร์เทนเดอร์ประเทศไทย 2007” กับเวลาที่รอคอย ประกาศผลแล้วท่ามกลางบรรยากาศอันอบอุ่นและสนุกสนานด้วยเสียงเชียร์ของผู้ชม แชมป์ประเภท Classic (สูตรเครื่องดื่ม Cocktail) ได้แก่ นายชาญสมร ทองคำ ประเภท Flair (ลีลาท่าทาง) ได้แก่ นายสันติชัย กิ่งจันทร์ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันรูปแบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้คือ Mocktail หรือเครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์ ผู้ชนะเลิศได้แก่ นายเมธาสิทธิ์ แป้นแก้ว และ “Signature Drinks” ที่ท้าทายความสามารถของมืออาชีพ ด้วยการใช้ Johnnie Walker Black Label, Baileys, Smirnoff หรือ Hennessy Cognac อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่จับสลากได้เป็นส่วนผสมหลักของสูตรค็อกเทลที่ต้องคิดขึ้นใหม่ ทำให้กรรมการตัดสินกันอย่างลำบากใจ
การแข่งขันบาร์เทนเดอร์ชิงแชมป์ประเทศไทยปี 2550 (Thailand Bartender Contest 2007) จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 แล้ว โดย สมาคมโรงแรมไทยร่วมกับสมาคมบาร์เทนเดอร์สากลประจำประเทศไทย และชมรมอาหารและเครื่องดื่ม แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อยกระดับอาชีพ บาร์เทนเดอร์ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมไทย พร้อมกับพัฒนาบาร์เทนเดอร์ของไทยให้มีศักยภาพทัดเทียมต่างชาติ ทั้งยังเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยเพราะค็อกเทลเป็นเครื่องดื่มสากลที่นักท่องเที่ยวนิยมอย่างมาก สามารถใช้เป็น จุดขายได้เป็นอย่างดี อันนำไปสู่การแข่งขันในธุรกิจเพื่อยกระดับคุณภาพของโรงแรมต่อไป
นางวิมลวรรณ อุดมพร รองประธานกรรมการบริหาร ด้านรัฐกิจและนิเทศสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้สนับสนุนหลัก ที่เป็นผู้นำแนวคิดการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบและจริยธรรมในการประกอบอาชีพบาร์เทนเดอร์มาปลูกฝังให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคน กล่าวว่า บริษัทฯ ได้จัดอบรมให้ความรู้ทั้งเรื่องของแอลกอฮอล์และการดื่มอย่างรับผิดชอบ (Responsible Drinking) เพื่อสร้างจิตสำนึกและค่านิยมที่ถูกต้องว่าควรทำอย่างไรที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น เกร็ดความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึง “ดื่มมาตรฐาน” หรือ Standard Drink ที่เป็นมาตรฐานสากลใช้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตลอดจนความสำคัญของอาชีพบาร์เทนเดอร์ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการดูแลลูกค้า ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรของวงการบาร์เทนเดอร์ให้มีคุณภาพ
“บาร์เทนเดอร์ในต่างประเทศถือว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีรายได้ดีมากเทียบเท่าระดับผู้จัดการโรงแรมเลยทีเดียว ขณะที่บาร์เทนเดอร์กว่า 350,000 คนในประเทศไทยที่กระจายอยู่ตามผับ บาร์ โรงแรม ส่วนหนึ่งจะได้รับการยอมรับเมื่อขึ้นเวทีการแข่งขันชิงแชมป์ในรายการต่างๆ แต่ในภาพรวมอาชีพนี้ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทยเท่าที่ควร ทั้งที่บาร์เทนเดอร์ของเรามีความสามารถไม่แพ้ต่างชาติ ดิอาจิโอฯ ตระหนักและเห็นความสำคัญในการยกระดับอาชีพบาร์เทนเดอร์ในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ซึ่งต้องพัฒนาหลายส่วนด้วยกัน ทั้งในด้านการปรับทัศนคติของสังคม และการพัฒนาศักยภาพ ทักษะบุคลิกภาพ ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการใช้ภาษาต่างประเทศ ความรู้เรื่องของแอลกอฮอล์ การดื่มอย่างรับผิดชอบ ส่วนผสมแต่ละอย่างในเครื่องดื่มแต่ละชนิด ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ดื่มทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการมีจิตสำนึกและจริยธรรมในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังและจริงใจ เพราะ บาร์ เทนเดอร์คือผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ดื่มมากที่สุดและสามารถดูแลเขาได้ดีที่สุด
สำหรับการริเริ่มให้มี Signature Drinks ในเวทีการแข่งขันครั้งนี้ ทางดิอาจิโอฯ เห็นว่าหากสามารถทำให้ค็อกเทลเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายโดยสร้างสรรค์สูตรเครื่องดื่มที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง แบบเดียวกับที่สิงคโปร์มี ‘Singapore Sling’ ประกอบกับลีลาท่าทางที่สนุกสนานน่าตื่นตาตื่นใจในการผสมค็อกเทลของบาร์เทนเดอร์ ก็จะช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่โรงแรมและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดี สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศไทยและช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง ” นางวิมลวรรณกล่าว
กว่าจะได้เป็น “แชมป์บาร์เทนเดอร์ประเทศไทย 2007” ครั้งนี้ ก็ต้องขับเคี่ยวกันอย่างหนักจากตัวแทนของโรงแรมจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศหลายร้อยคนมาร่วมแข่งขันในระดับภาค และผู้ชนะระดับภาค 18 คน จึงได้เข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศเป็นแชมป์ระดับประเทศครั้งนี้ที่การแข่งขันเป็นไปด้วยความสนุกสนาน แต่ละคนมีกองเชียร์แฟนคลับของตัวเองมาโดยเฉพาะ เป็นสีสันและกำลังใจที่สร้างความครึกครื้นไปทั่ว รอยัลพารากอนฮอลล์ สยามพารากอน เมื่อ วันเสาร์ที่ผ่านมา (8 กันยายน 2550)
เมธาสิทธิ์ แป้นแก้ว แชมป์บาร์เทนเดอร์ประเทศไทย 2007 ประเภท Mocktail จากผลงานชื่อ “Siam Sunset” ส่วนผสมประกอบด้วย น้ำตะไคร้ ว่านห่างจระเข้ น้ำแครอท น้ำนม น้ำถั่วเหลือง น้ำหวานกลิ่นทับทิม กล่าวว่า “ไม่อยากให้มองบาร์เทนเดอร์เป็นแค่คนชงเหล้า เพราะความจริงคนที่อยู่จุดนั้น เขามีความรู้ และมีความคิดที่จะสร้างสรรค์สังคมด้วย ไม่ได้ชงแต่เหล้า แต่สามารถที่จะสร้างสรรค์เครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย มีคุณค่าทางด้านโภชนาการได้เป็นอย่างดีครับ”
ชาญสมร ทองคำ แชมป์บาร์เทนเดอร์ประเทศไทย 2007 ประเภท Classic กับประสบการณ์ทำงานกว่า 7 ปีในวงการนี้ ให้ชื่อเครื่องดื่มที่ชนะเลิศว่า “Roses Are Red” ที่สื่อถึงความรัก “ชอบผสมให้คนดื่มแล้วมีความสุข ดูแลเขา คุยกับเขาครับ ไม่เคยเจอคนดื่มหนัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้ตัวว่าควรดื่มแค่ไหน“
สันติชัย กิ่งจันทร์ แชมป์บาร์เทนเดอร์ประเทศไทย 2007 ประเภท Flair ใช้ชื่อเครื่องดื่มที่ชนะเลิศว่า “Smui Sunset” ได้เล่าถึงเส้นทางบนถนนสายนี้ว่า “ผมใฝ่ฝันจะเป็นบาร์เทนเดอร์ตั้งแต่ผมเห็นคนคนหนึ่งยืนอยู่หลังบาร์คนเดียว แต่ดูแลลูกค้าทั้งคนไทยและฝรั่ง เท่ห์มากเลยครับ ผมก็เลยฝันว่าสักวันหนึ่งผมจะต้องเป็นแบบนั้นให้ได้ การโยนขวดและลีลาท่าทางต้องฝึกหนักครับ ขวดแตกถือว่าธรรมดาสำหรับพวกเรา ถ้าไม่แตกสิน่าประหลาด วันนี้นับว่ามาถึง ครึ่งทางแล้วครับ สังคมไทยยังมีสายตาแปลกๆ เวลามองคนที่ทำงานบาร์เทนเดอร์ คงคิดว่าต่ำต้อย แต่เขาไม่รู้ว่าหลังบาร์มีมากว่าแค่คนชงเหล้านะครับ ยังอีกไกลครับกว่าอาชีพนี้จะเป็นที่ยอมรับมีพร้อมทั้งเกียรติและเงินอย่างในต่างประเทศ”
ส่วน อุบล มาสุข แชมป์ประเทศไทยปี 2006 ซึ่งเพิ่งได้รับตำแหน่งแชมป์บาร์เทนเดอร์แห่งอาเซียน ปี 2007 ในการแข่งขัน ณ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ และรางวัลชนะเลิศอีกหลายเวที ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในต่างประเทศ กล่าวว่า “ประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เล่นให้เจ้าของโรงแรมดูแล้วเขามีความสุขครับ อยากให้มีเวทีการแข่งขันมากกว่านี้ โดยเฉพาะการส่งไปแข่งที่ต่างประเทศ น่าจะส่งผู้ชนะอันดับที่ 2 และ 3 ไปด้วย เพราะถึงแม้พลาดในบ้านเรา แต่ในเวทีต่างประเท เขาอาจจะชนะเลิศ ก็ได้ครับ”
ภาษิต ลิ่มต่อ ประธานชมรม Samui Flair Monster Bartender Club พี่เลี้ยงผู้อยู่เบื้องหลังแชมป์ประเภท Flair และแชมป์อาเซียน ให้ความเห็นว่า “สังคมควรให้โอกาสคนในอาชีพนี้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนผสมเครื่องดื่มอยู่หลังบาร์เท่านั้น แต่หน้าที่บาร์เทนเดอร์มืออาชีพต้องเป็นเพื่อนกับลูกค้าซึ่งมีความหมายมากนะครับ เราเป็นทั้งที่ระบายทุกข์ของเพื่อน คอยดูแลสุขภาพเพื่อน ขับรถไปส่งเมื่อเพื่อนเมา เพื่อให้เขาได้มีโอกาสกลับมาหาเราได้อีก มีวิธีคุยกับลูกค้า บอกให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าขับรถไปในสภาพแบบนี้ คนที่บ้านจะเดือดร้อนคนบนถนนด้วยกันก็เดือดร้อนแล้วก็ไม่ได้กลับมานั่งที่นี่อีก เขาเชื่อใจเราเมื่อเราทำตัวเป็นเพื่อนเขาครับ สำหรับเรื่อง พ.ร.บ. เหล้า ผมว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุครับ ปิดกั้นกันไม่ได้หรอก คนจะดื่มยังไงก็ดื่ม ไม่ว่าจะห้ามโฆษณา ห้ามขาย ก็ต้องดิ้นรนหาทางจนได้ เพราะช่องทางอื่นยังมีอีกเยอะแยะ การที่คนในครอบครัวดื่มน่ะจูงใจมากกว่าโฆษณาอีกครับ ผมมองว่าสถาบันครอบครัวที่แข็งแรงจะช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ดีกว่า และอีกด้านหนึ่งผมคิดว่าความรักจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ พ่อรักลูก สามีรักภรรยา ความรักจะทำให้คนดื่มอย่างมีความรับผิดชอบครับ”
ทางด้านแชมป์เก่าที่ไต่เต้าจากการเป็นพนักงานเสิร์ฟ ค่อยๆ เรียนรู้วิธีการผสมสูตรจากหนังสือและจดจำจาก รุ่นพี่ แล้วฝึกฝนโยนขวดด้วยตัวเองจนถูกไล่ออกจากบ้านก็ยังรักในอาชีพนี้อย่างมั่นคง ด้วยแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง “Cocktail” ที่ Tom Cruise เป็นพระเอก นายภัทรกฤต ลายน้ำเงิน แชมป์บาร์เทนเดอร์ ประเทศไทย ปี 2005 และรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดบาร์เทนเดอร์ชิงแชมป์โลก ณ เมืองตูริน ประเทศอิตาลี ในปีเดียวกัน และได้มาร่วมเป็นกรรมการตัดสินในครั้งนี้ด้วย ให้ข้อคิดเห็นว่า “อยากให้หลายฝ่ายร่วมกันสนับสนุนอาชีพบาร์เทนเดอร์ให้มีคุณภาพ มีโรงเรียนหรือสถาบันที่ฝึกสอนตามมาตรฐานสากล มีการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้กว้างขึ้นทั้งจากโรงแรม ผับ บาร์ ที่สำคัญคือมีตลาดรองรับที่กว้างกว่านี้ อย่างการจัดกิจกรรมพิเศษหลายๆ ประเภทสามารถให้บาร์เทนเดอร์เข้าไปสร้างสีสันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสิร์ฟแต่ Cocktail หรือแอลกอฮอล์เท่านั้นเพราะ Mocktail ก็เป็นที่นิยมมากขึ้นแล้ว และอยากให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของบาร์เทนเดอร์มากขึ้น ให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันบาร์เทนเดอร์ ก็ต้องมีความกระตือรือร้นและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองด้วย พร้อมกับดูแลลูกค้าให้ดี อยากให้ดื่มเพื่อความสุนทรีย์ไม่ใช่เพื่อความมึนเมา”
การจัดแข่งขันชิงแชมป์ในเวทีต่างๆ ดูเหมือนจะเป็นทางออกเดียวในเวลานี้ที่เห็นเป็นรูปธรรมและก้าวไปได้เร็วที่สุดในการที่จะช่วยยกระดับอาชีพบาร์เทนเดอร์ ทว่าการจะก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืนทั้งระบบ ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมมือกันสานฝันของบาร์เทนเดอร์ไทยให้เป็นจริง และสามารถก้าวไปได้ไกลสู่ความเป็นมาตรฐานสากล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 0 2691 6302 — 4, 0 2274 4961 — 2
(รัชฎา บุลนิม, อุมา พลอยบุตร์)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ