ไทยโชว์ศักยภาพ จัดงาน ITU Telecom Asia 2008

ข่าวทั่วไป Thursday September 20, 2007 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
สุดยอดมหกรรมงานแสดงนิทรรศการด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร แห่งภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค ประกาศศักดาดึงผู้นำด้านโทรคมนาคมทั่วโลกเข้าร่วมงาน ตอกย้ำความแข็งแกร่ง อุตสาหกรรม ICT ของประเทศ
ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ International Telecom Union (ITU) ให้เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงาน ITU Telecom Asia 2008 งานแสดงนิทรรศการ และการประชุมสัมมนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของผู้นำโทรคมนาคมแห่งภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2551 ณ อิมแพค เมืองทองธานี
สำหรับภูมิภาคเอเซียนั้นนับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเพียบพร้อมไปด้วยผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งยังมีอัตราการเข้าถึงในเรื่องเทคโนโลยีและการสื่อสารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอย่างเกาหลีใต้ มีอัตราการใช้เทคโนโลยี บรอดแบรนด์ สูงถึง 29% ในขณะที่ฮ่องกงและจีนมีอัตราการใช้สูงถึง 25% ซึ่งนับเป็นอัตราการใช้ที่สูงในลำดับต้นๆของโลก นอกจากนี้ ประเทศจีนและอินเดียที่มีการขยายตัวด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วก็มีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสูงขึ้นในปัจจุบัน โดยประเทศจีนมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสูงถึง 494 ล้านคน ในขณะที่ประเทศอินเดียมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสูงถึง 165 ล้านคน ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภูมิภาคนี้ยังสามารถรองรับการเติบโตด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ระบบเทคโนโลยีไร้สาย และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับระบบ 3G อันจะส่งผลต่อศักยภาพการขยายตัวทางการตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้เทคโนโลยีรายใหม่ซึ่งยังมีอีกเป็นจำนวนมากในภูมิภาคนี้
มหกรรมการแสดงศักยภาพ ICT ครั้งยิ่งใหญ่ของภูมิภาคเอเซีย หรือ ITU Telecom Asia 2008 นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับผู้นำด้านอุตสาหกรรม ICT ในภูมิภาคที่จะได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองทางความคิด รวมทั้งการสำรวจถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารในตลาดภูมิภาคเอเซีย ทั้งนี้ Dr. Hamadoun TOUR? เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว?างประเทศ หรือ ITU กล่าวว่า “ผมเองรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มีโอกาสในการเข้าร่วมงาน ITU Telecom Asia 2008 ในครั้งนี้ เพราะการเข้าร่วมงานจะทำให้ได้รับทราบถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อันจะนำมาซึ่งการกำหนดรูปแบบอนาคตของอุตสาหกรรม ICT นอกจากนี้ยังจะได้พูดคุยในเรื่องแนวโน้มและนโยบายหลักของการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกับผู้นำด้านโทรคมนาคมจากประเทศต่างๆ อีกด้วย”
ด้าน ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยมีความยินดีที่จะได้ต้อนรับผู้แทนจากประเทศต่างๆทั่วโลก โดยในฐานะเจ้าภาพจัดงาน ITU Telecom Asia 2008 เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยศักยภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมสรรพ ทั้งในด้านการจัดนิทรรศการ การจัดประชุม การบริการนักท่องเที่ยวของตลาด ICT ในประเทศไทย รวมทั้งความน่าสนใจและสถานที่ตั้งที่มีความสะดวกสบายของประเทศ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยมีความสมบูรณ์ในการรองรับการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งเราเองก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้การจัดงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี”
สำหรับเกณฑ์ในการตัดสิน ให้ประเทศไทยโดยกรุงเทพมหานครได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เกิดจากกระบวนการคัดเลือกที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากล เนื่องจากมีหลายประเทศที่มีความพร้อมและยื่นความประสงค์การเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้ผ่านการคัดเลือกด้วยเหตุผลหลายประการ รวมทั้งศักยภาพความแข็งแกร่งและการดำเนินด้านธุรกิจทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาคนี้
งาน ITU Telecom Asia 2008 นับเป็นงานแสดงนิทรรศการ ที่นำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของวงการ ICT และเป็นเวทีในการเจรจาระดับสากลของบุคคลในวงการที่จะเข้าร่วมประชุมในเรื่องการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแห่งภูมิภาคเอเซียแปซิค นอกจากนี้ยังเป็นเวทีสำหรับนักธุรกิจหรือคนรุ่นใหม่จากทั่วภูมิภาคเอเซียในการพบปะและร่วมแสดงความคิดเห็น (Youth Forum) พร้อมกันนี้ยังจัดให้มีการสัมมนาด้านการพัฒนาโทรคมนาคม หรือ Telecommunication Development Symposium (TDS) และโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์และพบปะพูดคุยด้านธุรกิจของคนในวงการ ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นในงาน ITU Telecom Asia 2008 งานนิทรรศการด้านอุตสาหกรรม ICT ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภูมิภาค ประจำปี 2551
เกี่ยวกับ ITU
ITU นับเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่พัฒนาเครือข่ายข้อมูลและการสื่อสารภายใต้การทำงานของสหประชาชาติ และยังเป็นศูนย์รวมการทำงานและการให้บริการทั้งแก่ภาครัฐและภาคเอกชน ในด้านการพัฒนาเครือข่ายและการบริการโทรคมนาคมของโลก ด้วยประวัติการทำงานยาวนานกว่า 140 ปี ITU มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการด้านการจัดสรรการใช้คลื่นวิทยุความถี่ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการจัดสรรวงจรดาวเทียม และการทำงานในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก นอกจากนั้น ITU ยังมีบทบาทสำคัญในการวางมาตรฐานการโทรคมนาคมของโลก ซึ่งก่อให้เกิดระบบการสื่อสารทันสมัยที่มีประสิทธิภาพในยุคปัจจุบัน
ITU ยังมีบทบาทในการจัดงานทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในวงการโทรคมนาคมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อมาพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และเทคโนโลยีซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ และโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา
จากระบบอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ ถึงเทคโนโลยีไร้สายล้ำสมัย และจากระบบการนำร่องเพื่อการบินและการเดินทะเล ไปถึงระบบพยากรณ์อากาศผ่านดาวเทียม จากการสื่อสารทางโทรศัพท์และโทรสาร ไปยังระบบออกอากาศของโทรทัศน์และเครือข่ายอนาคต ITU จะยังคงทำหน้าที่สำคัญในการช่วยให้โลกนี้สามารถสื่อสารกันได้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ข้อมูล - งานแสดงสุดยอดเทคโนโลยีโทรคมนาคมของ ITU Telecom
ITU Telecom เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโทรคมนาคมระหว?างประเทศ (International Telecommunications Union หรือ ITU) และเป็นผู้จัดงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ICT ระดับโลกมากมาย การจัดงานในแต่ละงานของ ITU Telecom นั้น จะเป็นการหลอมรวมเอาบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ระดับหัวกะทิของบริษัทชั้นนำต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมไอที และความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดการเชื่อมต่อเครือข่ายความสัมพันธ์ ซึ่งในแต่ละปีจะมีการจัดงาน ITU Telecom ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก และยังมีการจัดงานระดับโลกเป็นประจำทุกๆ สามปีอีกด้วย โดยงาน ITU Telecom ระดับภูมิภาคเอเชียครั้งล่าสุดที่ผ่านมาได้จัดขึ้นในปี 2547 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ส่วนงาน ITU Telecom ระดับโลก เพิ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เมื่อเดือนธันวาคม 2549 ที ฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ข้อมูลสำคัญของงาน ITU Telecom Asia 2008
ITU Telecom Asia 2008 เป็นงานอันโดดเด่นของวงการ ICT ที่รวบรวมสุดยอดผู้นำทั่วทั้งอุตสาหกรรมนี้มารวมไว้ในงานเดียว เพื่อเป็นการค้นหาโอกาสและความเป็นไปได้ต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้วงการ ICT ของภูมิภาคเอเชียซึ่งกำลังเติบโตและเต็มไปด้วยโอกาสเพื่อการลงทุน มีความเจริญรุดหน้าต่อไป สำหรับงาน ITU Telecom Asia 2008 จะจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2551 ซึ่งในงานครั้งนี้จะประกอบด้วย
- ส่วนงานนิทรรศการ — ประกอบด้วยการแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจ ซึ่งเต็มไปด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยและใหม่ล่าสุดของวงการ ICT ในภูมิภาค ตั้งแต่เทคโนโลยีบรอดแบรนด์ หรือการบริการต่างๆ บนเครือข่าย ไอพี ไปจนถึงเทคโนโลยีการสื่อสารแบบเคลื่อนที่และไร้สาย เครือข่ายเจเนอเรชั่นอัจฉริยะ การสื่อสารระบบดาวเทียม และอื่นๆ อีกมากมายซึ่งจะครอบคลุมทุกการบริการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
- ส่วนงานประชุม — งาน ITU Telecom Asia 2008 ยังประกอบด้วยส่วนการจัดประชุมของผู้นำแห่งวงการไอที รวมทั้งผู้กำหนดโยบายแห่งภูมิภาคคนสำคัญมากมาย ที่จะมาร่วมพูดคุย เสวนา เพื่อหารือและถกประเด็นต่างๆเพื่อสร้างความเติบโตให้แก่วงการธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- รายการน่าสนใจอื่นๆ —ในงานนี้จะมีการประชุมสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนเจเนอเรชั่นใหม่ไฟแรงจากทั่วภูมิภาคเพื่อเข้าร่วมการประชุมสัมนาต่างๆ ที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลอันเข้มข้นน่าสนใจ นอกจากนั้นยังมีการจัดงานสัมนาเรื่องการพัฒนาวงการโทรคมนาคม (Telecommunication Development Symposium หรือ TDS) และการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์แห่งโอกาสสำหรับความรู้และธุรกิจใหม่ๆ เพื่อคนรุ่นใหม่อีกด้วย
ITU TELECOM ASIA 2008 เวทีสำคัญในการปาฐกถาและสร้างเครือข่ายในวงการไอที
นอกจากโอกาสต่างๆ มากมายที่จะมีการนำเสนอในงานนี้แล้ว ITU Telecom Asia 2008 ยังเป็นโอกาสแห่งการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่สำคัญของวงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ผู้นำของประเทศในภาคอุตสาหกรรมนี้จะมีโอกาสพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อจะนำไปสู่แนวทางต่างๆ อันเป็นประโยชน์สำหรับการกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดีในการเจรจาธุรกิจระหว่างกันเพื่อความสำเร็จอีกช่องทางหนึ่ง
ตัวเลขประเมินการผู้เข้าร่วมและเข้าชมงาน ITU Telecom Asia 2008
การจัดงานในครั้งนี้ ITU คาดหวังว่าจะได้รับความสนใจจากบริษัท องค์กร จากภูมิภาคต่างๆ มากมายในวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่จะมาเข้าร่วมงาน นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้คนในแวดวงวิชาการ การธนาคารและการเงิน รวมถึงบุคคลระดับรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจทางการเมืองของประเทศต่างๆ ในอุตสาหกรรมนี้และบุคคลอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้ร่วมงานเหล่านี้จะมีส่วนร่วมในฐานะต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ ผู้แสดงนิทรรศการ ผู้ร่วมงานสัมนา แขกพิเศษ หรือนักธุรกิจผู้เข้าร่วมงาน
งาน ITU Telecom Asia 2008 จะเป็นตัวแทนในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ แห่งวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งเอเชีย โดยมีการนำเสนอนวัตกรรมมากมาย เช่นเครือข่ายบรอดแบรนด์ การสื่อสารแบบเคลื่อนที่ เทคโนโลยีสารสนเทศ และอีกอื่นๆอีกมากมาย
สถิติของงานที่จัดขึ้นในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค งาน ITU Telecom Asia 2004
จำนวนผู้จัดงาน 224 ราย จาก 25 ประเทศ รวมทั้งหอแสดงสินค้าแห่งชาติ อีก 7 ประเทศ
ผู้ร่วมงานที่ลงทะเบียน 22,607 ราย จาก 93 ประเทศ
แขกพิเศษ
รัฐมนตรี ตัวแทนจากกระทรวง 38 ราย จาก 32 ประเทศ
ประธานกรรมการบริษัท 117 ราย
ตำแหน่งอื่นๆ 341 ราย
แขกผู้มีเกียรติ 557 ราย
เวทีสัมมนา
ผู้บรรยาย 218 ราย จาก 38 ประเทศ
ตัวแทน 602 ราย จาก 43 ประเทศ
ผู้ร่วมเวทีสัมนาทั้งหมด รวมทั้งผู้บรรยาย 787 ราย จาก 43 ประเทศ (ไม่รวมแขกวีไอพีและผู้สื่อข่าว)
ผู้สื่อข่าว
ผู้สื่อข่าวที่ได้รับการรับรอง 380 ราย ช่างภาพ กองถ่ายและผู้ช่วยกองถ่าย 102 ราย ผู้สื่อข่าว
106 ราย จากสื่อต่างประเทศ
จำนวนผู้สื่อข่าวทั้งหมด 482 ราย จาก 186 สื่อ จาก 18 ประเทศ
จำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด 24,465 ราย
รายละเอียดของผู้แสดงนิทรรศการในงาน ITU Telecom Asia 2004
ในงานระดับภูมิภาคเอเชียครั้งล่าสุด นั้นมีบริษัทผู้ร่วมแสดงงานจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งบริษัทอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้
รายละเอียดของผู้เข้าร่วมงานสัมมนา ในงาน ITU Telecom Asia 2004
ในงานระดับภูมิภาคเอเชียครั้งล่าสุด ITU ได้มีโอกาสต้อนรับผู้แทนที่มาร่วมเวทีสัมมนามากมายจากทุกมุมของวงการ ซึ่งผู้แทนเหล่านั้น เป็นผู้มีความหลากหลายในตำแหน่งหน้าที่ในบริษัทต่างๆ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเวทีสัมนายังประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐบาลและผู้ออกกฏหมายต่างๆ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการธนาคาร การเงิน หรือแม้กระทั่งผู้คนในแวดวงวิชาการ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานต่างก็มีวัตถุประสงค์ในการร่วมงานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการมาเพื่อรับรู้ข่าวสารใหม่ๆ รับฟังความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือถกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ระดับชาติ รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสในการพบปะกับผู้นำระดับสูงของวงการนี้รวมถึงบุคคลในรัฐบาลจากประเทศต่างๆ
วาระ ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพ
งาน ITU Telecom Asia 2008
ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน พ.ศ. 2551
1. International Telecommunication Union หรือ ITU เป็นองค์กรภายใต้การกำกับของสหประชาชาติ มีหน้าที่วางมาตรฐานการสื่อสารให้อยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน เป็นผู้กำหนดการใช้งานคลื่นความถี่ (Spectrum) และมีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาการติดต่อสื่อสารให้ครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน ITU มีสมาชิก 189 ประเทศ และกว่า 620 องค์กรอิสระร่วมกิจกรรมกับ ITU
2. ประเทศไทยเคยมีความพยายามหลายครั้งในการขอเสนอเป็นประเทศเจ้าภาพในงาน ITU ในสมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย โดย รมต. สุเทพ เทือกสุบรรณ และสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดย รมต. นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดย ITU ได้ไปจัดงานที่เกาหลีใต้ในปี ค.ศ. 2004 และฮ่องกงในปี ค.ศ. 2006 ตามลำดับ
3. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ได้ประสานไปยัง ITU เพื่อเสนอประเทศไทยให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ITU Asia 2008 ในระหว่างเดือนสิงหาคม — กันยายน พ.ศ. 2551 โดยมีข้อเสนอในการสนับสนุนงาน ITU ดังต่อไปนี้
3.1. ประกันการเช่าพื้นที่ 8,000 ตารางเมตร เพื่อจัด THAI PAVILION ในงาน ITU โดยทาง ITU Telecom จะให้ส่วนลด 30% ของค่าเช่าพื้นที่
3.2 ให้การสนับสนุนเงินที่ใช้ในการเช่าสถานที่ USD 600,000-.
3.3 ให้การสนับสนุนเงินทางการตลาดในการทำประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศและภูมิภาค USD300,000-.
3.4 ให้การสนับสนุนเงินทางการตลาดในการทำประชาสัมพันธ์ในประเทศ USD500,000.-
3.5 ให้การสนับสนุนบัตรโดยสารชั้นประหยัดสูงสุด 40 ใบ ในฐานะที่เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงาน
3.6 ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามจริง ในการจัดเลี้ยงต้อนรับคณะ VIP สื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมงาน
3.7 ให้การสนับสนุนในการจัดงานพิธีเปิด
3.8 ให้การสนับสนุนพื้นที่ภายในงาน Bangkok International ICT Expo
2007 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน 2550 กับ ITU Telecom เพื่อเดินทางเข้ามาจัดบูธทำการประชาสัมพันธ์งาน ITU Telecom Asia 2008
ผลที่คาดว่าประเทศไทยจะได้รับ
- รายได้ที่เกิดขึ้นจากผู้เข้าร่วมงาน โดยคาดว่าจะมีรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสร้างให้เกิดรายได้ทางอ้อมต่างๆ ให้กับภาคเอกชน ทั้งส่วนของโรงแรม
การคมนาคม และร้านค้าต่างๆ
- ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานระดับโลก และเป็นการแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยในเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้าระดับภูมิภาคด้านโทรคมนาคม
- เป็นการเพิ่มมูลค่าทางการค้า (Trade Value) ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อในงานนี้
- เพื่อเรียนรู้และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆจากงาน ITU มาเป็นส่วนช่วยในการผลักดันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ รวมทั้งช่วยผลักดันอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคหรือประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
ข้อมูล - ประวัติ International Telecom Union (ITU)
ผู้สร้างสรรค์โครงสร้างการสื่อสารโลกสำหรับมวลมนุษยชาติ
ทุกครั้งที่มนุษย์หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาหมุนเลขหมายปลายทาง รับสายโทรเข้า ส่งโทรสาร รับส่งอีเมล์ โดยสารเครื่องบินหรือเรือเดินสมุทร แม้กระทั่งการรับฟังวิทยุ หรือดูรายการโปรดทางโทรทัศน์ พวกเขากำลังได้รับผลประโยชน์จากโครงสร้างโทรคมนาคมสากลที่ ITU ได้เป็นผู้วางรากฐานไว้
เป็นเวลากว่า 140 ปีมาแล้ว ที่สหภาพโทรคมนาคมระหว?างประเทศ หรือ ITU ได้เป็นผู้กำหนดและวางมาตรฐานทางเทคนิคของระบบโทรคมนาคมโลกที่สามารถทำให้การติดต่อสื่อสารของมนุษย์ทั่วโลกเป็นไปได้อย่างฉับไวและสะดวกสบาย ITU ยังเป็นผู้วางกฏเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่ในการสื่อสารของโลกเพื่อให้ระบบการสื่อสารไร้สายเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การลำเลียงข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และในฐานะผู้บุกเบิกด้านการพัฒนาวงการโทรคมนาคมระดับโลก ITU ยังเป็นผู้สนับสนุนการใช้ระบบโทรคมนาคมในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยให้คำแนะนำด้านการวางระบบและกลยุทธ์ต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนา รวมถึงแนะนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเฉพาะทาง ทั้งการถ่ายโอนเทคโนโลยี การบริหารจัดการ การจัดงบประมาณด้านการเงิน การติดตั้งและการบำรุงรักษาเครือข่าย การบรรเทาภัยพิบัติ และการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์
สหภาพโทรคมนาคมระหว?างประเทศ หรือ International Telecommunication Union (ITU) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1865 (พ.ศ. 2508) ณ กรุงปารีส ภายใต้ชื่อเดิมว่าสหภาพโทรเลขระหว่างประเทศ (International Telegraph Union) ต่อมาในปี ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) ITU ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบัน และในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ได้เปลี่ยนสภานะเป็นหน่วยงานพิเศษภายใต้องค์การสหประชาชาติ ITU ได้รับการลงมติโดยบริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติที่มีอิทธิพลมากที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก อย่างบูซ อัลเลน แฮมิลตัน (Booz Allen Hamilton) ว่าเป็นหนึ่งในสิบองค์กรของโลกที่มีความเก่าแก่ที่สุด นอกจากนั้น ITU ยังเป็นองค์กรที่มีการทำงานครอบคลุมแง่มุมต่างๆ ของวงการโทรคมนาคมโลกมากที่สุดอีกด้วย
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายที่สุดของ ITU เห็นจะเป็นการสร้างระบบเครือข่ายโทรคมนาคมของโลก ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาโครงข่ายต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ปัจจุบัน ด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีโทรศัพท์ไร้สาย การรวมตัวกันของยุทธวิธีในการสื่อสารและอื่นๆ ทำให้โลกใบนี้มีแหล่งข้อมูลมากมาย อันเป็นหลักสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ซึ่งทั้งหมดจะเป็นไปไม่ได้หากปราศจากผลงานที่สำคัญของ ITU
ภารกิจหลักของ ITU
- พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ
ITU มีหน้าที่สร้างเสริมและพัฒนาระบบโทรคมนาคมและข้อมูลของโลกใบนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและระบบโทรคมนาคม รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดในระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อเป็นการสนับสนุน “สิทธิในการสื่อสาร” ของมนุษย์ทุกคนนั่นเอง
“จุดหมายสูงสุดขององค์กรก็คือการทำให้มนุษย์ทุกคนในโลกสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้”
ในฐานะที่ ITU เป็นองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจ มีสถานะเป็นองค์กรกึ่งสาธารณะกึ่งเอกชนที่มีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายแหล่งความรู้ ข้อมูลด้านเทคนิค การเงิน และทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้ทั่วโลกได้รับประโยชน์จากงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างเต็มที่ ดังนั้น ITU จึงมีวิธีการทำงานตามแบบฉบับของระบอบประชาธิปไตย โดยให้สิทธิในการออกเสียงแก่สมาชิกทุกราย เพื่อให้สมาชิกแต่ละรายร่วมแสดงความคิดเห็น ในการหาแนวทางในการพัฒนา การให้บริการด้านโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพทั่วโลก ซึ่งนับเป็นภารกิจหลักของ ITU
- การพัฒนาระบบโทรคมนาคมให้มีความทันสมัยรองรับการพัฒนาประเทศ
ปัจจุบัน ITU มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในด้านฐานะผู้ผลักดันการพัฒนาด้านสัมพันธภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบพื้นฐานของการสื่อสารโทรคมนาคมในระบบเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา
ITU เป็นผู้ดำเนินการโครงการต่างๆ และให้คำแนะนำแก่ภาครัฐในหัวข้อต่างๆ มากมายที่ช่วยลดช่องว่างด้านเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างประเทศให้น้อยลง และเพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลและเครือข่ายเป็นไปได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ITU ยังมีอำนาจและหน้าที่ในการจับตาดูความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาแห่งทศวรรษ (Millennium Development Goals หรือ MDGs) โดยการตรวจสอบค่าดัชนีชี้วัดในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่างๆ
ITU ยังดำเนินในการสนับสนุนการทำงานภาครัฐในการพัฒนางานด้าน ICT เพื่อสร้างโครงงานที่มีประสิทธิภาพและการดำเนินงานที่โปร่งใส รวมทั้งยังเป็นการดึงดูดการลงทุนของโลกซึ่งจะสร้างเครือข่ายการสื่อสารที่ครอบคลุมพื้นที่ในส่วนต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดย ITU ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ระบบโทรคมนาคมเพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตมนุษย์ ในกรณีเกิดภัยพิบัติ โดยมีการจัดอบรมสัมมนา และนำเสนอคำแนะนำด้านการปฏิบัติงานและการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถคำนวนค่าใช้จ่ายเพื่อการตั้งราคาและการปรับปรุงราคาสำหรับการบริการชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและง่ายดาย
ผู้เชี่ยวชาญของ ITU ยังให้คำแนะนำด้านเทคนิคแก่วิศวกรด้านโทรคมนาคมของการรถไฟ ผู้จัดการระดับสูง ผู้ออกกฏหมาย และผู้ร่างนโยบาย เพื่อเป็นการปรับปรุงข้อมูลด้านเทคโนโลยี นโยบาย และกฏเกณฑ์ต่างๆ ให้ร่วมสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งยังมีการสนับสนุนให้เกิดการสร้างระบบเครือข่ายอิเล็คทรอนิกส์เพื่อนโยบายและยุทธวิธี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบรัฐบาลทางอิเล็คทรอนิกส์ สาธารณสุขทางอิเล็กทรอนิกส์ การศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ การเกษตรทางอิเล็กทรอนิกส์ และการค้าทางอิเล็คทรอนิกส์ ในประเทศกำลังพัฒนา
การพัฒนะบบโทรคมนาคมของ ITU ที่สำคัญอีกประการ คือ การปรับปรุงข้อมูลและสถิติด้าน ICT รวมทั้งดัชนีและตัวเลขบ่งชี้ที่สำคัญด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ ข้อมูลเชิงนโยบายและกฏเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งนโยบายด้านการกำหนดราคา ข้อมูลของผู้ประกอบการ กรณีศึกษาต่างๆ รวมทั้งข้อมูลด้านการเงินและวิทยาศาสตร์จากสถาบันที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ ITU รวบรวมมานี้ ช่วยให้สามารถจับตาดูความเคลื่อนไหวของการพัฒนาในสังคมข้อมูลของโลกได้ในหลายระดับ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อใช้ในการวัดช่องว่างด้านเทคโนโลยี และบ่งชี้แนวทางสำคัญของอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถช่วยงานด้านการตลาดและพัฒนาโอกาสธุรกิจได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีการศึกษาด้านการกำหนดและวิเคราะห์แนวทางของโลกด้านเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในวงการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญแก่รัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างของกฏหมายเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและปรับปรุงคุณภาพของการบริการและเครือข่ายด้าน ICT ของโลก
นอกจากการให้บริการทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น ITU ยังให้บริการแก่ผู้ออกกฏหมายโดยการจัดงาน Global Symposium Regulators (GSR) ซึ่งเป็นการประชุมระดับโลกของบรรดาผู้ที่มีหน้าที่ออกกฏระเบียบต่างๆ เพื่อสร้างสังคมเฉพาะแห่งกฏระเบียบ รวมทั้งเวทีออนไลน์สำคัญที่รู้จักกันในนามว่า Global Regulators Exchange หรือ G-Rex ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ออกกฏระเบียบด้านโทรคมนาคมที่สำคัญของโลก เพื่อก่อให้เกิดความคิดด้านนโยบายที่ดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเวทีแห่งนี้ผู้เป็นสมาชิกสามารถป้อนคำถามผ่านเวทีสายด่วนของ G-Rex และรับคำตอบและคำแนะนำจากสมาชิกคนอื่นๆ จากทั่วโลกได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
- การพัฒนางานด้านเทคนิค เพื่อระบบข้อมูลของโลกอนาคต
สำหรับด้านเทคนิค ITU ได้สร้างมาตรฐานของโทรคมนาคมโดยเฉลี่ยวันละชนิด โดย ITU เป็นผู้วางโครงสร้างเพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่อเนื่องอื่นๆ อย่างเช่น ระบบ VoIP ระบบ e-commerce และระบบบรอดแบรนด์ สมัยก่อนนั้น เมื่อโลกยังใช้ระบบตัวเลขและที่อยู่สำหรับการสื่อสาร ITU ก็เป็นผู้สร้างระบบเครือข่ายสำหรับโทรศัพท์สายตรง และปัจจุบัน ITU ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างโครงสร้างหลักสำหรับเครือข่ายยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น (next generation network หรือ NGN) และได้ออกแบบระบบมัลติมีเดียชั้นนำที่สามารถรองรับทั้งเสียง ข้อมูล รวมทั้ง ระบบเสียงและ ภาพวีดีโอ ซึ่งการปฏิบัติการโดยใช้ระบบเครือข่ายเดียวที่รวมการบริการทุกชนิดเข้าด้วยกัน เช่น ระบบโทรคมนาคมเสียงทั้งแบบโทรศัพท์สายดินและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโทรทัศน์ระบบดิจิตอล จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้ปฏิบัติการ ผู้ให้บริการ และผู้ใช้ อย่างทั่วถึงกัน และเนื่องจากการบริการแต่ละชนิดใช้ระบบโทรคมนาคมที่แยกอิสระออกจากกัน โดยมีการจัดวางระดับของเครือข่ายอย่างชัดเจน เครือข่ายยุคใหม่ หรือ NGN จะทำให้ผู้ให้บริการต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเองในการนำเสนอสินค้ามากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่า ในราคาที่ย่อมเยากว่าสำหรับผู้บริโภคได้มากขึ้นและในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการป้องกันการสูญเปล่าของเงินลงทุนที่มักเกิดขึ้นจากวิวัฒนาการที่ไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีเครือข่ายอีกด้วย นอกจากเครือข่าย NGN แล้ว เครือข่ายที่อยู่อาศัย และเครือข่ายด้าน IPTV ที่เกี่ยวข้องกับระบบทะเบียนราษฎร์ (รวมทั้งระบบ RFID) ยังเป็นโครงการทำงานที่ ITU เริ่มมีบทบาทเมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย
ตามที่ WSIS ได้ให้ความสำคัญไว้ว่า “การกำหนดมาตรฐานเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งข้อมูล” การกำหนดมาตรฐานของ ICT ได้รับการยอมรับในระดับโลกในฐานะเป็นตัวแปรหลักที่ผลักดันให้เทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถเข้าสู่ตลาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดระบบการตลาดที่ยุติธรรม เสรี และเต็มไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ และการที่ ITU สามารถทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลาของตลาดได้นั้น ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปรับตัวเพื่อตอบสนองและก้าวไปข้างหน้าของเรา เพื่อผลประโยชน์ของเหล่าสมาชิก ทั้งในภาค อุตสาหกรรมและภาครัฐได้เป็นอย่างดี ทางด้านการสื่อสารไร้สายนั้น ITU ยังเป็นผู้ผลักดันการใช้คลื่นความถี่และวงโคจรของดาวเทียมอย่างมีความเท่าเทียม มีประสิทธิภาพ และประหยัด กฎระเบียบว่าด้วยคลื่นวิทยุ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกภาพของ ITU เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ ITU ใช้เพื่อปฏิบัติการระดับโลกเพื่อรับรองคุณภาพการสื่อสารระหว่างประเทศให้ได้มีมาตรฐานที่สามารถมั่นใจได้
จากการบริการโทรคมนาคมทั้งแบบสายดินและไร้สาย ไปจนกระทั่งระบบการสื่อสารของวิทยาศาสตร์การบิน และจากระบบบรอดแบรนด์ไปยังระบบพยากรณ์อากาศและระบบหาพิกัดของโลก การวิจัยด้านอวกาศ และการบริการด้านการสื่อสารเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางทางการเดินสมุทร ทุกอย่างนั้นต้องอาศัยคลื่นความถี่วิทยุในการทำงานทั้งสิ้น และการทำงานนี้ย่อมต้องอาศัยการดำเนินการจัดสรรค์คลื่นความถี่ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการแทรกคลื่นซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
ITU เป็นผู้จัดการการใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อรองรับการทำงานของอุปกรณ์ที่อาศัยระบบดังกล่าวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ระบบ 3G เครื่องบิน เรือเดินสมุทร ระบบนำร่อง สถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม และการแพร่ภาพออกอากาศของสถานีโทรทัศน์และวิทยุ เพื่อให้โลกแห่งการใช้งานระบบไร้สายทั้งหมดเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น ITU ยังทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาและให้คำแนะนำด้านคุณลักษณะเฉพาะของการให้บริการและระบบของการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุอีกด้วย ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้เป็นมาตรฐานหลักที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ใช้ในการผลิตอุปกรณ์ออกสู่ท้องตลาด
- งานแสดงเทคโนโลยีโทรคมนาคม ITU Telecom
งานแสดงทางด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม ITU Telecom เป็นงานอันมีเกียรติประวัติในการรวมตัวของภาครัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม ผู้ให้บริการ ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญในวงการโทรคมนาคม เพื่อมาพบปะพูดคุยและวิเคราะห์ถึงแนวโน้มล่าสุดของอุตสาหกรรม งาน ITU Telecom World และงาน ITU Telecom ระดับภูมิภาคเป็นงานที่จัดขึ้นทุกปีในสถานที่ต่างๆ ที่หมุนเวียนกันไป เพื่อทำให้ทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านเทคโนโลยีและความคิดใหม่ล่าสุดได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น งานดังกล่าวยังเป็นการนำเสนออุปกรณ์รุ่นใหม่ล่าสุด รวมทั้งการบริการใหม่ๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้แก่ผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมากอีกด้วย
“งานแสดงทางด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม ITU Telecom นับเป็นงานที่มีประวัติพิเศษในการรวมตัวของภาครัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม ผู้ให้บริการ ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญในวงการโทรคมนาคม เพื่อมาพบปะพูดคุยและวิเคราะห์ถึงแนวโน้มล่าสุดของอุตสาหกรรม”
นับตั้งแต่งานแรกที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2514 งาน ITU Telecom World มีผู้เข้าร่วมงานแล้วทั้งหมดกว่า 900,000 ราย และได้แสดงนิทรรศการของอุตสาหกรรมนี้มาแล้วกว่า 7,000 รายการ งาน ITU Telecom World ครั้งต่อไปจะมีขึ้นที่แอฟริกาในปี พ.ศ. 2550
ทำให้มนุษย์ทุกคนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างสะดวกขึ้น
การทำงานทุกด้านของ ITU มีจุดมุ่งหมายหลักในการทำให้มนุษย์ทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลและการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนามาตรฐานแห่งการสื่อสาร การสร้างระบบสาธารณูปโภคแห่งโทรคมนาคม หรือการจัดการคลื่นความถี่วิทยุและวงโคจรดาวเทียมอย่างเป็นธรรม เพื่อนำมาซึ่งการสื่อสารแบบไร้สายสำหรับทั่วทุกมุมโลก หรือแม้กระทั่งการให้การสนับสนุนประเทศต่างๆ ด้านกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบโทรคมนาคม ซึ่งนับเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้ นับเป็นสิ่งที่ ITU ได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า 140 ปีมาแล้ว และยังคงมุ่งมั่นที่จะสานต่อปณิธานอันดีนี้ต่อไป เพื่อช่วยให้โลกใบนี้สามารถสื่อสารกันได้ดียิ่งขึ้น
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
คุณปาริฉัตร เศวตเศรนี
โทร 0-2694-6000 Ext. 6091 หรือ 08-1840-4701
อีเมลล์: parichat_s@tceb.or.th
คุณอริสรา ธนูแผลง
โทร 0-2694-6000 ต่อ 6092 หรือ 08-1561-4745
อีเมลล์ : arisara_t@tceb.or.th
เจดับบลิวที ประเทศไทย : เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
คุณวงจันทร์ ตั้งทรงศักดิ์
โทร. 0-2204-8221 หรือ 08-9127-2089
อีเมลล์ : wongchan.tangsongsak@jwt.com
คุณญาดา ศรีสัมมาชีพ
โทร. 0-2204-8214 หรือ 08-4640-0058
อีเมลล์ : yada.srisammasheep@jwt.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ