มติเอกฉันท์ สนช. เห็นชอบคืนสิทธิประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39

ข่าวทั่วไป Tuesday February 27, 2018 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--สำนักงานประกันสังคม ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ตามมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน เพราะขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ในระยะเวลา 12 เดือน มีโอกาส จะกลับเข้ามารับสิทธิประกันสังคมอีกครั้ง ตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ต้องการให้สำนักงานประกันสังคม เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ต้องการกลับมารับสิทธิประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนตามมาตรา39 ได้รับมี 6 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และเสียชีวิต ตามกฎหมายผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ต่อไปนี้ 1. เสียชีวิต 2. กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 3. ลาออก 4. ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน (สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ) และ 5. ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน (สิ้นสภาพในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน) หรือกรณีที่ผู้ประกันตนให้หักเงินสมทบผ่านบัญชีธนาคารฯ แต่ยอดเงินในบัญชีมีไม่เพียงพอ ทำให้สิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนได้เช่นเดียวกัน สำนักงานประกันสังคมได้จัดทำร่างกฎหมายเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ที่ขาดสิทธิไปจากการส่งเงินสมทบไม่ครบ สามารถยื่นคำขอกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนใหม่อีกครั้ง โดยให้ ยื่นคำขอต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ โดยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติการกลับเป็นผู้ประกันตน ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 193 เสียง เป็นที่น่ายินดีสำหรับผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ซึ่งปัจจุบันพ้นสภาพไปเป็นจำนวน 9 แสนกว่าคน คงต้องรอฟังข่าวดี ว่า พรบ.นี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ แต่สำหรับผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ที่ยังคงเป็นผู้ประกันตนในปัจจุบัน อย่าลืมรักษาสิทธิของท่าน โดยชำระเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือ โทรสายด่วน 1506 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ