กระทรวงการคลัง ยืนยันการปรับขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจทำได้ แต่ต้องพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรควบคู่กัน ระบุชัดผลการขึ้นเงินเดือนให้รัฐวิสาหกิจที่ผ่านมาสะท้อนขาดประสิทธิภาพการทำงานและความสามารถในการทำกำไรก็ลดลง

ข่าวทั่วไป Monday September 24, 2007 13:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--สคร.
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การพิจารณาการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับรัฐวิสาหกิจจำนวน 4% เช่นเดียวกับราชการที่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนไปก่อนหน้านี้ โดยจะมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 25 กันยายน 2550 จากการศึกษาเปรียบเทียบการจ่ายค่าจ้างและผลตอบแทนรวมของรัฐวิสาหกิจ 59 แห่ง (พนักงานรวม 270,000 คน ยอดขายรวมประมาณ 1,700,000 ล้านบาทต่อปี) เปรียบเทียบกับตลาดการจ้างงานของบริษัทเอกชนชั้นนำจำนวน 92 แห่ง (พนักงานรวม 155,000 คน และมียอดขายรวม 900,000 ล้านบาทต่อปี) ผลการศึกษาค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงานรัฐวิสาหกิจ (Average Basic) ในระดับต้นจนถึงระดับกลางมีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาดการจ้างงานของภาคเอกชน ดังนี้
กลุ่มวุฒิแรกเข้าระดับมัธยมต้น กลุ่มที่ 1 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 32% กลุ่มที่ 2 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 37% และกลุ่มที่ 3 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 57%
กลุ่มวุฒิแรกเข้าระดับมัธยมปลาย หรือ ปวช. กลุ่มที่ 1 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 30% กลุ่มที่ 2 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 57% และกลุ่มที่ 3 มีอัตราเงินเดือนสูงกว่าตลาด 51%
กลุ่มวุฒิแรกเข้าระดับ ปวส. กลุ่มที่ 1 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 19% กลุ่มที่ 2 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 47% และกลุ่มที่ 3 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 42%
กลุ่มพนักงานระดับ ปวส. และมีประสบการณ์ 4 ปี กลุ่มที่ 1 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 22% กลุ่มที่ 2 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 34% และกลุ่มที่ 3 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 18%
กลุ่มพนักงานแรกเข้าระดับปริญญาตรี กลุ่มที่ 1 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 7% กลุ่มที่ 2 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 22% และกลุ่มที่ 3 มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตลาด 12%
ทั้งนี้ หากในปีงบประมาณ 2551 จะให้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างอีกร้อยละ 4 จะทำให้รัฐวิสาหกิจมีค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,600 ล้านบา ทต่อปี ดังนั้น หลักการสำคัญของการปรับขึ้นเงินเดือนควรควบคู่กับการพัฒนาความสามารถของรัฐวิสาหกิจ (Productivity) ในการทำกำไรให้สูงขึ้น หรือลดค่าใช้จ่ายขององค์กรเพื่อให้เพียงพอต่อรายจ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการตั้งมาตรฐานการทำงานให้มีประสิทธิภาพ (KPI) เพื่อวัดผลการทำงานของรัฐวิสาหกิจ และจะเป็นการพัฒนาบุคคลากรของรัฐวิสาหกิจให้เติบโตไปกับค่างานที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ ผลของการปรับอัตราค่าจ้างของรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมา 2 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ปี 2547 ปรับเพิ่มร้อยละ 3 บวก 2 ขั้น และร้อยละ 3 บวก 1 ขั้น (พนักงานระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป) และครั้งที่ 2 ปี 2549 ปรับเพิ่มร้อยละ 5 การปรับอัตราค่าจ้างและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจพัฒนาประสิทธิภาพและมีรายได้ดีขึ้น อีกทั้งการเพิ่มค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่สัมพันธ์กับผลงานขององค์กร โดยความสามารถในการทำกำไรในภาพรวมเมื่อเทียบกับปี 2547 ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 8.26 ในปี 2548 เหลืออยู่ที่ระดับร้อยละ 6.75 และปี 2549 เหลืออยู่ที่ระดับร้อยละ 7.08
อนึ่ง ปัจจุบันการกำหนดโครงสร้างเงินเดือนของรัฐวิสาหกิจจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 รัฐวิสาหกิจที่สามารถกำหนดโครงสร้างเงินเดือนได้เอง โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ซึ่งเสนอให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งเป็นผู้พิจารณา กลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจที่ใช้โครงสร้างเงินเดือนตนเองที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แล้ว โดยพิจารณารวมทั้งค่างานไว้ด้วยแล้ว และรัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 3 รัฐวิสาหกิจที่ใช้โครงสร้างเงินเดือน 58 ขั้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02-298-5880-9 ต่อ 6724, 6722
โทรสาร 02-298-5807 http :/ www.sepo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ