กระทรวงดิจิทัลฯ ตั้งคณะทำงานดูแลแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านธุรกิจของ TOT-CAT-NBN-NGDC ดึงผู้เกี่ยวข้องร่วมทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพ

ข่าวเทคโนโลยี Monday April 9, 2018 13:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เดินหน้าเสนอ รมว.ดิจิทัลฯ ลงนามตั้งคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านของ บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม บริษัท NBN และบริษัท NGDC ดึงผู้แทนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ร่วมทำงาน เพื่อให้การดำเนินงานต่อไปมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดทำแผนธุรกิจของทั้ง 4 บริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลังได้พบและรับฟังความคิดเห็นกับตัวแทนสหภาพและพนักงานของ TOT และ CAT แล้วเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 เห็นชอบในหลักการให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ จัดตั้งบริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปรับโครงสร้างองค์กรตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นของ TOT และ CAT ได้มีมติเห็นชอบแล้วนั้น ในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาและดำเนินการ ในหลายด้าน ซึ่งเป็นข้อห่วงใยของสหภาพและ พนักงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรอบคอบมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจของทั้ง 4 บริษัท มีความเข้มแข็งในระยะยาว กระทรวงดิจิทัลฯ จึงได้เสนอจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณารายละเอียดในด้านต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ สำหรับคณะทำงานชุดนี้ จะมีปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานคณะทำงานและประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค ด้านการบริหารจัดการ และด้านการบริหารบุคคล ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนจากคณะกรรมการของทั้ง 4 บริษัท กรรมการผู้จัดการใหญ่ของทั้ง 4 บริษัท ผู้แทนสหภาพ TOT และ CAT ผู้แทนพนักงานของ TOT, CAT และ NBN ร่วมเป็นคณะทำงาน โดยคณะทำงานชุดดังกล่าว จะศึกษาและพิจารณาแผน รวมถึงรายละเอียดที่ชัดเจนการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของ บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม ให้แก่ NBN และ NGDC เพื่อให้การถ่ายโอนทรัพย์สินและธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น และไม่กระทบต่อการบริการ รวมถึงแผนธุรกิจของทั้ง 4 บริษัทหลังการถ่ายโอนธุรกิจในระยะยาวด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ