ศปถ. เข้มข้นดูแลถนนสายหลัก - รอง กวดขันดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ดูแลความปลอดภัยในการเล่นน้ำสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Tuesday April 17, 2018 10:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เมษายน 2561 เกิดอุบัติเหตุ 579 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 60 ราย ผู้บาดเจ็บ 624 คน รวม 2 วัน (11 – 12 เม.ย. 61) เกิดอุบัติเหตุ 1,026 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 99 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,085 คน กำชับจังหวัดบูรณาการเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของจุดตรวจและด่านชุมชน โดยเฉพาะเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุบนถนนสายหลัก – รอง และเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ เน้นคุมเข้มการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และการขับขี่ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตราย รวมถึงการเล่นน้ำสงกรานต์ท้ายกระบะอีกทั้งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อยกเว้นสิทธิและความคุ้มครองของการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ กรณีเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ ตลอดจนส่งเสริมการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัย และเหมาะสมกับประเพณีวิถีไทย เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้เป็นเทศกาลแห่งความสุขและความปลอดภัย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รองประธานกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติคนที่สอง ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 เปิดเผยว่าศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 579 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 60 ราย ผู้บาดเจ็บ 624 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 42.83 ขับรถเร็ว ร้อยละ 24.35 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.84 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.15 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.69 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.65 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 25.56 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 26.17 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,032 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,492 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 764,035 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 154,773 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 43,464 ราย ไม่มีใบขับขี่ 42,609 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ บุรีรัมย์ (21 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา และสกลนคร (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (23 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 2 วัน (11 – 12 เม.ย. 61) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,026 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 99 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 1,085 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 29 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (38 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และเพชรบูรณ์ (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (41 คน) นายอาคม กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นวันมหาสงกรานต์ ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับถึงภูมิลำเนาแล้ว และท่องเที่ยว ทำบุญ รวมถึงเล่นน้ำสงกรานต์ ขณะที่ประชาชนบางส่วนยังอยู่ระหว่างการเดินทาง ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้สั่งกำชับให้จังหวัดเข้มข้นดูแลทั้งเส้นทางสายหลัก สายรอง และถนนในชุมชน/หมู่บ้าน ซึ่งจากข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2561 พบว่า ดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกว่าร้อยละ 42.83 จึงขอเน้นย้ำจุดตรวจเข้มงวดในการเรียกตรวจ เพื่อตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ รวมถึงจากสถิติอุบัติเหตุพบว่าทางตรงเป็นเส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุกว่าร้อยละ 66.15 จึงขอให้จังหวัดกวดขันการใช้ความเร็ว ปรับแผนเพิ่มจำนวนจุดตรวจบนเส้นทางสายตรงที่มีระยะทางยาว เพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ อีกทั้งเน้นกำชับจุดตรวจ ด่านตรวจบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เน้นการดูแลความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ การใช้อุปกรณ์นิรภัยรถกระบะที่บรรทุกคนโดยสารท้ายกระบะในลักษณะเสี่ยงอันตราย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุรุนแรง พร้อมทั้งจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนย้ายรถออกจากสถานที่เกิดอุบัติเหตุโดยเร็ว เพื่อให้การจราจรมีความคล่องตัว และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยของเส้นทางสัญจรทางน้ำและแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำชับจังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร และภาคประชาชน ดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในลักษณะยึดพื้นที่เป็นที่ตั้ง เน้นปฏิบัติการเข้มข้นในจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง พร้อมดูแลความปลอดภัยในการเล่นน้ำของประชาชนมิให้มีการเล่นน้ำบริเวณเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุในเส้นทางสายหลักและสายรอง รวมถึงควบคุมมิให้เล่นน้ำในลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตราย อีกทั้งเข้มข้นการจัดตั้งจุดตรวจบริเวณเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังจากประชาชน เล่นน้ำสงกรานต์เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น และความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้เน้นย้ำให้จังหวัดกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านชุมชนและจุดบริการ รวมถึงใช้กลไกสถาบันครอบครัว ประชาคมหมู่บ้านในการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ และดูแลสมาชิกในครอบครัวให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อยกเว้นสิทธิและความคุ้มครองของการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ กรณีเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ ทั้งนี้ ฝากเตือนประชาชนให้เล่นน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัยและรู้คุณค่า เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้เป็นเทศกาลแห่งความสุขและความปลอดภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ