ทริปเปิลที พร้อมลุยตลาดเกตเวย์อินเทอร์เน็ต ตั้งเป้าปีหน้าโต 400 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday October 24, 2007 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--เอ็มบิส เอเชีย
บริษัท ทริปเปิลที โกลบอล เน็ท หรือ ทีทีจีเอ็น (TTGN) บริษัทในเครือ บมจ ทีทีแอนด์ที ซึ่งได้รับใบอนุญาติให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ และบริการชุมชนสายอินเทอร์เน็ตแบบที่สอง ที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเองจาก กทช ได้เปิดตัวโครงข่ายอินเตอร์เน็ตแบ็คโบนสามแห่งคือ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศษ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ใช้บริการในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าธุรกิจเติบโตในปี 2551 จำนวน 400 ล้านบาท
นายสุวัฒน์ ปุณณชัยยะ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทริปเปิลที โกลบอล เน็ท หรือ ทีทีจีเอ็น (TTGN) กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ทีทีจีเอ็น ได้จัดสร้างโครงข่ายเพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ อินเทอร์เน็ต แบ็คโบนสามแห่งคือที่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว และเริ่มให้บริการแก่ลูกค้า ISP โดยในเบื้องต้นเป็นลูกค้าของกลุ่มบริษัท ทีทีแอนด์ที และลูกค้าผู้ใช้บริการ Maxnet ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิส จำกัด (TT&T SS) นอกจากนี้ยังมีลูกค้า ISP ในประเทศไทยได้ให้ความสนใจอีกจำนวนหนึ่ง การต่อเชื่อมโครงข่ายทั้งสามเส้นทางจะช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้บริการ อินเทอร์เน็ตครอบคลุมในโซน เอเชีย อเมริกา และยุโรป ได้โดยตรง ซึ่งไม่ต้องอ้อมไปในทิศทางอื่นก่อน ทำให้บริการเกตเวย์อินเทอร์เน็ต ของ ทีทีจีเอ็น มีความรวดเร็ว และตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้บริการแบบกรณีเฉพาะทางได้อย่างดี
นายสุว้ฒน์ กล่าวว่า นอกจากการเชื่อมต่อนี้ทาง ทีทีจีเอ็น ยังได้มีการต่อวงจรตรงไปยังผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูลยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ลที่สหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งนอกจากจะต่อเชื่อมวงจรไปที่อินเทอร์เน็ตแบ็คโบนที่ อเมริกาแล้วทาง ทีทีจีเอ็น ก็ยังได้คิดปรับปรุงประสิทธิภาพบริการเพิ่มขึ้น คือได้จัดทำวงจรต่อตรง (Network Peering) ไปที่กูเกิ้ล (Google Inc.) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของบริการบนอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน โดยเราได้เริ่มเชื่อมวงจรขนาด 1Gbps ต่อตรงจากเราต์เตอร์ของเราที่อเมริกาเข้ากับโครงข่ายของกูเกิ้ล ทำให้ต่อไปนี้ลูกค้าที่ใช้บริการทั้งหมดของ กูเกิ้ล จะได้รับการส่งผ่านข้อมูลอย่างรวดเร็วขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นบริการ Google Search, Gmail, YouTube, Google Earth, Google Application, Google Space, Google Labs, Picasa, Blogger และอื่นๆ อีกมาก ทั้งนี้เพราะไม่ต้องไปอ้อมออกไปยังโครงข่ายอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นข้อแตกต่างของบริการเกตเวย์ในไทย นอกจากนี้เรายังได้ทำข้อตกลงกับผู้ให้บริการซึ่งเป็นพันธมิตรของ ทีทีจีเอ็น ใน อเมริกาเพื่อจัดทำวงจรต่อตรง (Peering) เข้ากับ Rich Content Providers อื่น ๆ เช่น Time Warner, Limelight, Cogent เป็นต้น ตอนนี้ถือได้ว่า อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ของ ทีทีจีเอ็น ได้เชื่อมโยงตรงเข้ากับRich Content Providers ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ที่ต่างประเทศ ครอบคลุมบริการและเนื้อหาต่างๆ ที่ผู้ใช้ต้องการมากที่สุด”
นายสุวัฒน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เราทำในวันนี้ถือว่าเป็นผลดี และพัฒนาประสิทธิภาพบริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมาอีกขั้น ทั้งนี้เนื่องจากการที่ทางกทช. ได้อนุญาติให้ทีทีจีเอ็นสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายตรงไปยังต่างประเทศได้เอง ถ้าเราต่อตรงเองไม่ได้ก็จะทำให้การจัดสร้างบริการดังกล่าวเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจาก กทช. เล็งเห็นประโยชน์ในเรื่องนี้ และอนุญาติให้บริษัทได้ดำเนินการขึ้น โดยผลที่ได้นี้ก็ตกมาเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ในทุกระดับ และแผนการต่อจากนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา และในไตรมาสสุดท้ายทางทีทีจีเอ็นก็มีความพร้อมเต็มที่ และเริ่มให้บริการแก่ลูกค้า ISP และ Operators ที่สนใจใช้บริการได้ สำหรับในปีหน้า ทีทีจีเอ็น ได้จัดงบประมาณลงทุนเพิ่มเติมใน เฟสสองที่จะมีการติดตั้งอุปกรณ์เกตเวย์เพิ่มเติม และการจัดสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อีกประมาณ 50 ล้านบาท โดยตั้งเป้ากวาดรายได้ในปีหน้า 400 ล้านบาท
“ในเรื่องการขยายลูกค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น ทีทีจีเอ็น มีแผนเตรียมการเป็น Hub สำหรับภูมิภาค โดยมีการเชื่อมโยงโครงข่ายไปที่ประเทศกัมพูชา พม่า และลาวตามลำดับ ตอนนี้ได้บรรลุข้อตกลงกับผู้ให้บริการซึ่งเป็นพันธมิตรของเราที่ประเทศ กัมพูชา เพื่อจัดสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ และร่วมกันให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แก่ลูกค้าในประเทศกัมพูชาได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงทั้งสองประเทศ และนอกจากนี้เราก็ได้มีข้อตกลงเบื้องต้นกับผู้ให้บริการที่ประเทศพม่าเช่นกัน โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในราวปีหน้า ทำให้ทีทีจีเอ็นสามารถขยายฐานลูกค้าออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ สามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเป็นรายได้สู่ประเทศได้อีกทางหนึ่ง ในส่วนการตลาดต่างประเทศนี้ ทางทีทีจีเอ็นคาดว่าจะสามารถจัดทำการเชื่อมโยงวงจรไปยัง กัมพูชา พม่า และลาว ซึ่งเริ่มให้บริการได้ในปีหน้า เป้าหมายจะเป็นลูกค้า ISP และ Operators ต่างๆ ที่ประเทศนั้นๆ ที่ต้องการต่อเชื่อมเข้า อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ที่ประเทศไทย คาดว่าน่าจะมีรายได้จากลูกค้าต่างประเทศเป็นสัดส่วน 20%-30%”
“สำหรับตลาดของอินเทอร์เน็ตเกตเวย์จะเริ่มร้อนแรงมากขึ้นในปีหน้า เนื่องจากผู้ให้บริการพยายามปรับปรุงความสามารถและจุดเด่นในการให้บริการแตกต่างกัน พร้อมกับต้นทุนบริการที่ลดลง และการใช้แบนด์วิทที่สูงขึ้นมาก คาดว่าลูกค้าที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) ในปีหน้าจะเริ่มต้นกันที่ความเร็ว 1Mbps เป็นอย่างน้อย ทำให้ความต้องการแบนด์วิทในปีหน้า น่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 50% นอกจากบริการ อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ของ ทีจีเอ็นแล้ว ขณะนี้ทางบริษัทอยู่ในช่วงดำเนินการขอใบอนุญาติ IDD จาก กทช ซึ่งใบอนุญาติให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ หรือ IDD จาก กทช. ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับในช่วงไตรมาสสามของปีนี้ เมื่อได้รับอนุมัติให้บริการ IDD หรือโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้แล้วในปีหน้าทีทีจีเอ็น ก็จะพยายามสร้างบริการใหม่ ๆ หรือแนวทางให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศใหม่ ๆ ขึ้น เพื่อช่วยสร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายเดิม และเป็นทางเลือกกับผู้ใช้เช่นเดียวกันอยากขอให้ทาง กทช. ช่วยเร่งพิจารณาให้โดยด่วน” นายสุวัฒน์ กล่าวในที่สุด
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
นายจตุพล ศิริเดช (ตุ่น)หรือน.ส.ณัฐณิชาร์ ทิศสอน (อ๋อ)
โทร 0-81423-8606, 085-242-3656
บริษัท เอ็มบิส เอเชีย จำกัด
โทร. 02-245-3334 ต่อ 202 แฟกซ์ 02-643-1045

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ