SSP โตสวนกระแส! ไตรมาส 1/61 กำไรพุ่ง 46.3% QoQ และเพิ่มขึ้น 4.1% YoY หลังทยอยบุ๊ครายได้โรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น-ไทยเพิ่มเติมในเดือนมี.ค. โค้งหลังเตรียมรับรายได้เต็มๆ และ COD โครงการใหม่ไม่หยุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 15, 2018 12:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.-- SSP ไตรมาส 1/61 กำไรพุ่งกระฉูด 46.3% QoQ และเพิ่มขึ้นกว่า 4.1%YoY หลังทยอยรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น-ไทยเพิ่ม หนุนกำลังการผลิตเข้าใกล้เป้าหมาย 200 MW ไปอีกขั้น "วรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์" เผยครึ่งปีหลังเตรียม COD โรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น-ไทยเพิ่มอีก 3 โครงการ และอีกหลายโครงการในปีถัดๆไป หวังหนุนผลงานนิวไฮต่อเนื่องทุกไตรมาส นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SSP) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2561ในภาพรวมถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยในไตรมาส 1 นี้ กลุ่มบริษัทมีโครงการที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มเติม คือ โครงการฮิดะกะ Solar Farmขนาด 21 เมกะวัตต์ ที่ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น และโครงการ Solar Rooftop 2 แห่งในประเทศไทยกำลังการผลิตรวม 1.4 เมกะวัตต์ โดยทั้งสองโครงการเริ่มการดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งรายได้ที่เข้ามาจากโครงการใหม่ดังกล่าวแม้จะเพียงช่วง 1 เดือน ก็มีส่วนช่วยชดเชยการที่ปริมาณการผลิตของโครงการเสริมสร้างโซลาร์ที่ลพบุรีลดลงกว่าไตรมาส 1 ปีก่อน อันเนื่องมาจากสภาวะอากาศในประเทศช่วงไตรมาส 1 นี้ที่มีปริมาณฝนตกเยอะกว่าปกติ ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของ SSP ขยับเพิ่มเป็น 74.4 เมกะวัตต์ จากในปีที่ผ่านมา กำลังการผลิตอยู่ที่ 52 เมกะวัตต์ ในขณะที่หากทุกโครงการ COD แล้วเสร็จจะมีขนาดโครงการ 193.8 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 38% จากปัจจุบัน นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าบริหารฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SSP) กล่าวว่า บริษัทฯมีการปรับปรุงนโยบายที่สำคัญมากคือ ปรับโครงสร้างเงินกู้ระหว่างบริษัทภายในกลุ่มให้ยืดหยุ่นและมีระยะเวลาการชำระคืนยาวขึ้น ทำให้กำไร/ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้น (ที่เกิดจากเงินกู้ที่ให้บริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้น 100% กู้ยืมมาจากบริษัทแม่) มาบันทึกเป็นรายการอื่นๆ ในส่วนของผู้ถือหุ้นโดยตรงอย่างที่ควรจะเป็น เหมือนกับส่วนทุน โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทฯบันทึกขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ผ่านงบกำไรขาดทุนไปถึง 72 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ของกำไรที่เราทำได้ในปีที่แล้ว ทำให้แม้จะเป็นเพียงการขาดทุนทางบัญชีก็กดดันผลประกอบการเรามาก ซึ่งหลังจากปรับโครงสร้างแล้ว รายการขาดทุนนี้จะไม่มีอีกแล้ว นอกจากนั้นอีกเรื่องคือค่าเช่าที่ดินระหว่างก่อสร้างก็มีการปรับเข้าเป็นต้นทุนสินทรัพย์ด้วย "อย่างไรก็ตาม ผมขอเน้นย้ำว่าในการพิจารณาผลประกอบการและกำหนดจำนวนเงินปันผลนั้น เราเชื่อว่ากำไรหลักจากการดำเนินการ หักรายการที่มิใช่ผลจากการดำเนินงานหลักออก เป็นดัชนีที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาผลการดำเนินการและการจ่ายปันผล" นายณัฐพรรษ กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ