เกษตรฯ หารือภาคีเตรียมกฎหมายลูกรับฐานะนิติบุคคล ดึงเม็ดเงินลงชุมชนเกษตร

ข่าวทั่วไป Thursday May 24, 2018 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร หารือจัดทำกฎหมายลูก รองรับการปรับปรุงร่าง พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ผลักดันสู่ฐานะนิติบุคคล สร้างรายได้แก่ชุมชนเกษตรกร จากมติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 กรมส่งเสริมการเกษตรจึงวางแผนดำเนินงานต่อเนื่อง โดยจัดการสัมมนาบูรณาการงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนหน่วยงานภาคี ระดมความคิดเห็นจากกรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 60 คน เพื่อพิจารณาประเด็นและเนื้อหากฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนหารือแนวทางส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ว่าที่ร้อยตรีสมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ข้อจำกัดของวิสาหกิจชุมชนคือ แหล่งเงินทุนและฐานะการเป็นนิติบุคคล โดยที่ผ่านมาวิสาหกิจชุมชนกว่า 8 หมื่นแห่งที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกับกรมส่งเสริมการเกษตรภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 มีเพียง 500 กว่าแห่ง ที่ได้ฐานะการเป็นนิติบุคคลด้วยการยื่นขอตามกฎหมายอื่น ซึ่งมีบริบทหลายประการในการยื่นขอฐานะนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ทำให้การเป็นนิติบุคคลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม่มีความสะดวกเท่าที่ควร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับปรุงพระราชบัญญัติในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนและมีความพร้อมนั้นสามารถมีฐานะเป็นนิติบุคคล พร้อมเติบโต และสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรของตนได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต การเป็นนิติบุคคลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จะทำให้เกษตรกรภายในกลุ่มได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น คือ วิสาหกิจชุมชนสามารถเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ในนามนิติบุคคล เปิดบัญชีและกู้เงินในฐานะวิสาหกิจชุมชนได้ ได้รับบริการจากรัฐในการขอขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ขอเครื่องหมาย อย. ทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ ตลอดจนได้สิทธิเรื่องภาษีในนามนิติบุคคล นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่จะปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โดยดึงเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นกรรมการ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกขึ้นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ