ISE หลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติจุฬาฯ มุ่งสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ เปลี่ยนมิติการพัฒนาศักยภาพด้านวิชาชีพสู่เวทีเศรษฐกิจโลก

ข่าวทั่วไป Thursday September 27, 2007 15:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อโลกทางการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม กลายเป็นเวทีแห่งการแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง ระดับมาตรฐานทางวิชาชีพ ในหลักสูตรการเรียนการสอน จึงมีความจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การยกระดับให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง สำหรับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรระดับปกติ เป็นผู้นำความคิดในตลาดการค้าเสรีบนเวทีโลก
สอดรับกับความสำคัญของ “ภาษาอังกฤษ” ที่ถือเป็นจุดเชื่อมของการสื่อสาร ระหว่างนักธุรกิจ นักลงทุนทั่วทุกมุมโลก จนกลายมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญทางแผนพัฒนาด้านการศึกษา ของสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ ในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ของคณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการปรับหลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้ทัดเทียมกับสถาบันการศึกษาระดับโลก ในนามของสถาบัน International School of Engineering หรือ ISE สำนักงานบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ ที่เริ่มเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลา 3 ปี
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ริจิรวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ เปิดเผยว่า หลักสูตรวิศวกรรมนานาชาตินั้นเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อต้องการให้นิสิตมีกระบวนการการเรียนรู้ด้านทักษะ ความสามารถในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ รวมทั้งเปิดโอกาสการก้าวสู่ความเป็นสากล ในด้าน การเรียนและการทำงานได้มากขึ้น
“การศึกษาเรื่องเทคโนโลยีนั้นต้องทำควบคู่ไปกับทักษะทางด้านภาษาด้วย ซึ่งทางสถาบันพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้แก่นิสิตทุกคน โดยขณะนี้ ISE ได้ปรับระบบการเรียนการสอนให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น คือการเพิ่มบุคคลากรที่เป็นชาวต่างชาติ และโครงการนิสิตแลกเปลี่ยน เพื่อส่งเสริมให้นิสิต มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ทั้งในและนอกห้องเรียน”
ปัจจุบันสถาบัน ISE มีนิสิตเข้าเรียน ในระดับปริญญาตรี ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมทั้งสิ้นกว่า 600 คน ส่วนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มีนิสิตนักศึกษาประมาณ 40 คน
“ยืนยันได้ว่าจำนวนผู้สมัครเรียนในแต่ละสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้แนวโน้มในอนาคตเชื่อว่าคงจะต้องมีการเปิดสาขาใหม่เพิ่มเติม ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทมากขึ้น ควบคู่กับการเน้นให้นิสิตนักศึกษาได้ฝึกภาคปฏิบัติในห้องแลปพร้อมๆ กับการทำรายงานเสริมทักษะการเรียนรู้ โดยเฉพาะในชั้นปีที่ 3 ที่จะมีการฝึกงานกับโรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำ เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติจริงกับการใช้อุปกรณ์และเครื่องยนต์กลไกต่างๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ในขณะปฏิบัติงาน”
ทั้งนี้ปัจจุบัน สถาบัน ISE มีสาขาที่เปิดสอนหลักๆ ได้แก่ สาขาวิศวกรรมอากาศยาน สาขาวิศวกรรมนาโน สาขาวิศวกรรมการออกแบบและการผลิตยานยนต์ และสาขาวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศทำการสอนในแต่ละสาขาวิชา โดยคณาจารย์ส่วนหนึ่งมาจากภาควิชาต่างๆ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนเกณฑ์การรับสมัครนิสิตนักศึกษาสามารถสมัครได้ตามขั้นตอนของมหาวิทยาลัย โดยผู้สมัครต้องมีเกรดเฉลี่ยตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไป มีคะแนนทางด้านภาษาอังกฤษ เช่น TOEFL TOEIC IELTS และคะแนนด้านทักษะทางวิทยาศาสตร์ เช่น CU-ATS SAT Subject Test มายืนยันผลคะแนนในด้านภาษา หลังจากนั้นสถาบันจะทำการคัดเลือกผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์ เพื่อสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนในสถาบันต่อไป
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ยังกล่าวถึงทิศทางสถาบัน ISE ว่า ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะขยายสาขาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยอิงกับสาขาวิศวกรรมอุตสาหการและวิศวกรรมยานยนต์ เพื่อรองรับสถานการณ์ความเป็นจริงในตลาดแรงงาน ขณะเดียวกันยังถือเป็นการปรับระดับการศึกษา สำหรับวิศวกรรุ่นใหม่ที่จะนำความรอบรู้ ไปสู่การพัฒนาศักยภาพด้านวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น
“นโยบายด้านพัฒนาการศึกษาอีกประการหนึ่ง คือ การให้นิสิตมีโอกาสเรียนรู้ภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาจีน รัสเซีย เยอรมัน พร้อมการผสมผสานกับการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพในตัวบุคลากรให้เข้าสู่ระบบตลาดอุตสาหกรรมได้อย่างครบวงจร โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเชื่อมต่อ กับแหล่งอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ”
สำหรับผลงานของสถาบัน ISE ที่ผ่านมา ได้ส่งนิสิตเข้าร่วมแข่งขันในโครงการ “สร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยนาโนเทคโนโลยี ปี 2007 (ANF Nano Innovation Contest 2007) จัดขึ้นโดยเครือข่ายสภานาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Nano Forum,ANF) ระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ ประเทศไต้หวัน
โดยนิสิตของสถาบันสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากผลงานที่มีชื่อว่า Electrically switch able intelligent windshield (ESIW) หรือ นวัตกรรมกระจกหน้ารถยนต์นาโนเทคโนโลยีแทนที่ปัดน้ำฝน และผลงานดังกล่าวยังถือเป็นนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปพัฒนาสำหรับการใช้งานได้จริงในอนาคตด้วย
การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาวิศวกรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ สามารถแข่งขันบนเวทีเศรษฐกิจโลกเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ หรือ ISE ก็นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนิสิตนักศึกษา ในยุคที่ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ผู้สนใจสามารสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ ISE (International School of Engineering) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0 2218 6337
08 — 5239 - 8400,08 — 6334 - 1894

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ