ธอส. กรุยทางนวัตกรรมใหม่ พัฒนาระบบการเงิน และอสังหาริมทรัพย์ไทย จับมือ สศค. จัดสัมมนา การออมเพื่อที่อยู่อาศัย

ข่าวทั่วไป Friday November 30, 2007 12:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับ European Federation of Building Societies (EFBS) จัดสัมมนา “Bauspar Finance System : ระบบการออมเพื่อที่อยู่อาศัยของเยอรมนี” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมระบบการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยที่ประสบความสำเร็จในประเทศเยอรมนีและในแถบยุโรป เพื่อเป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาให้เกิดทางเลือกใหม่ๆในระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการออม ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดที่อยู่อาศัยของไทย
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวในพิธีเปิดการสัมมนาว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐที่สนับสนุนนโยบายด้านที่อยู่อาศัย และยังเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย จึงมีภารกิจที่สำคัญในการเสาะแสวงหานวัตกรรมทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เพื่อที่จะช่วยคนไทยให้มีโอกาสในการที่จะมีบ้านเป็นของตนเองมากขึ้น ธอส. ได้เล็งเห็นความสำคัญและบทบาทของ Bauspar Finance System ของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นระบบที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในทวีปยุโรป จึงได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่จะนำเสนอแนวคิดของ Bauspar ในประเทศไทย เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับระบบการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากผู้บริหารระดับสูงของ EFBS ที่เดินทางมาจากประเทศเยอรมนีเพื่อนำเสนอความรู้ ประสบการณ์ ที่สั่งสมมาทั้งจากทางทฤษฎีและการปฏิบัติในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
อนึ่ง Bausparkassen เป็นองค์กรทางการเงินในประเทศเยอรมนี ที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน Bausparkassen ซึ่งมีแนวคิดในการจัดระบบเงินกองทุนหมุนเวียนในหมู่ประชาชนในลักษณะ Mutually Supportive Group หรือ การรวมกลุ่มคนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นตนเอง ให้เข้ามาออมทรัพย์ร่วมกัน เพื่อเป็นเงินกองทุนดังกล่าวจัดสรรเป็นเงินกู้เพื่อซื้อ หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับสมาชิกลักษณะเงินกองทุนของ Bausparkassen เป็นระบบแบบปิด ซึ่งสามารถจัดสรรเงินกองทุนให้สมาชิกกู้ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินทุนจากภายนอก การรวมกลุ่มเงินออมในลักษณะนี้ จะช่วยให้สมาชิกผู้ออมสามารถมีเงินซื้อบ้านได้ในเวลาที่เร็วขึ้น ทั้งนี้ สมาชิกผู้ออมจะต้องทำสัญญากับ Bausparkassen เพื่อระบุสาระสำคัญ 3 ส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการฝาก เช่นจำนวนเงินฝาก อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาฝาก ส่วนที่สอง คือ เงื่อนไขการจัดสรรเงินให้กับสมาชิก เช่น จำนวนเงินกู้ที่จะได้รับ ราคาของที่อยู่อาศัยที่ต้องการซื้อ และส่วนสุดท้ายจะเกี่ยวกับเงื่อนไขการกู้เงิน เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จำนวนเงินผ่อนชำระ ระยะเวลาผ่อน เป็นต้น
ในส่วนของการฝากเงินนั้น สมาชิกจะสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากด้วยตนเอง โดยจะสามารถกำหนดอัตราที่ต่ำกว่า หรือเท่าๆกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดได้ ซึ่งจะเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลาฝาก และเมื่อต้องสมาชิกต้องการกู้เงิน สมาชิกก็จะสามารถกู้เงินโดยชำระดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราตลาด และที่สำคัญจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เท่ากันตลอดอายุการกู้เงินด้วยเช่นนี้ ดังนั้นระบบการออมแบบ Bauspar System จะเอื้อประโยชน์อย่างมากต่อการกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยของเขาเอง และทำให้ผู้ที่กู้เงินไปสามารถรับรู้ภาระและความสามารถในการผ่อนชำระล่วงหน้าได้ เพราะดอกเบี้ยเงินกู้จะอิงกับดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝาก ดังที่กล่าวมาแล้ว
รูปแบบของ Bausparkassen นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึง 26 แห่ง นอกจากนี้ยังได้แพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ อาทิ ออสเตรีย สโลวาเกีย สาธารณรัฐเชค ฮังการี โรมาเนีย สโลวาเนียโครเอเชีย คาคัสถาน อินเดีย และจีน
สำหรับประเทศไทย กระทรวงการคลังและธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ตระหนักถึงแนวคิดและหลักการของ Bauspar System ว่าจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาให้เกิดทางเลือกใหม่ๆในระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการออม ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดที่อยู่อาศัยของไทย และยังมีความสอดคล้องอย่างมากกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
นายกฤษฎา อุทยานิน รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง พร้อมให้การสนับสนุนในโครงการดังกล่าว
โดยมอบหมายให้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รับหน้าที่ในการติดต่อประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป หากสามารถนำมาปรับใช้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ทั้งเป็นการช่วยเสริมสร้างวินัยการออม และยังส่งผลในการที่จะช่วยให้สามารถมีบ้านได้ง่ายยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ