กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.85-32.20 จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 11, 2018 12:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.85-32.20 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 32.06 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยด้วยมูลค่า 7.0 พันล้านบาท แต่เข้าซื้อพันธบัตรสูงถึง 3.54 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่องเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ โดยเงินยูโรแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระบุว่า อาจจะหารือเรื่องแนวทาง การยุติโครงการซื้อพันธบัตรในการประชุมวันที่ 14 มิถุนายน ขณะที่เงินเยนทรงตัวหลังตลาดการเงินคลายความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ในอิตาลีและส่งผลให้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจับตาหลายเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือในวันที่ 12 มิถุนายน การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) การประชุมอีซีบี การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ เงินเฟ้อ และยอดค้าปลีก อนึ่ง เป็นที่คาดการณ์โดยทั่วไปว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมวันที่ 12-13 มิถุนายน โดยตลาดจะมุ่งความสนใจไปที่การประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินของเฟดรวมถึงสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนบีโอเจมีแนวโน้มคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษไว้ตามเดิมในการประชุมวันที่ 14-15 มิถุนายน เราจึงมองว่าปัจจัยที่จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดมากที่สุดคือท่าทีของอีซีบี เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงหากอีซีบีเดินหน้าส่งสัญญาณการยุติมาตรการ QE อย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าความผันผวนในตลาดพันธบัตรอิตาลีเมื่อเร็วๆ นี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดของผู้ดำเนินนโยบายในภาพรวม เงินเยนซึ่งถูกมองว่าเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยอาจได้แรงหนุนหลังจากปธน.ทรัมป์ถอนตัวจากแถลงการณ์ร่วมในการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือ G-7 รอบล่าสุด สะท้อนความขัดแย้งเรื่องการค้าและภาษีนำเข้าระหว่างปธน.ทรัมป์ และผู้นำคนอื่นๆ ท่ามกลางความกังวลเรื่องสงครามการค้าโลก ส่วนดอลลาร์แคนาดาและเปโซเม็กซิโกเผชิญแรงกดดันจากความวิตกที่ว่าสหรัฐฯ อาจยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คาดว่าสกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของทั้งการเติบโตของการค้าโลกและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะข้างหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ