เจาะผลวิเคราะห์ 9101 ช่วยเกษตรกรจากเซินกา-ตาลัส มีเงินสะพัดกว่า 4 พันล้าน คิดเป็น 2.2 เท่าของงบอัดฉีด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 15, 2018 13:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สศก. วิเคราะห์ผลทางเศรษฐกิจ จากการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยพายุเซินกาและตาลัส ในปี 60 รวม 35 จังหวัด ระบุ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดเงินหมุนเวียนมากกว่า 4,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.2 เท่าของงบประมาณที่ได้รับ เผย โครงการด้านประมง เกษตรให้ความสนใจมากสุด รองลงมา คือ โครงการด้านการเลี้ยงสัตว์ และโครงการด้านการผลิตพืชอายุสั้น นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 จากพายุเซินกาและตาลัส ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2560 ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเจ้าภาพ พบว่า มีพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) จำนวน 35 จังหวัด จำนวน 378,705 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 1,893.64 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รวม 5 ด้าน ได้แก่ 1) การผลิตพืชอายุสั้น 2) การเลี้ยงสัตว์ 3) การผลิตอาหาร แปรรูปผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 4) การประมง และ 5) การทำเกษตรแบบผสมผสาน จากการวิเคราะห์ของ สศก. พบว่า การช่วยเหลือตามโครงการ 9101 แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยจากพายุเซินกาและตาลัส ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวน 4,164.83 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.2 เท่าของงบประมาณ โดยหากพิจารณาแต่ละประเภทโครงการจะก่อให้ผลทางเศรษฐกิจ ดังนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการดำเนินการของโครงการ 9101 แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยจากจากพายุเซินกาและตาลัส โครงการ จำนวน (โครงการ) เกษตรกร (ครัวเรือน) งบประมาณ (ล้านบาท) ผลกระทบ ศก. (ล้านบาท) 1. การประมง 2,583 203,954 1,019.98 2,194.13 2. การเลี้ยงสัตว์ 1,491 109,572 547.80 1,265.59 3. การผลิตพืชอายุสั้น 1,006 52,905 264.49 555.94 4. การผลิตอาหาร แปรรูปผลผลิตฯ 250 11,396 56.98 139.51 5. การทำเกษตรแบบผสมผสาน 6 878 4.39 9.65 รวม 5,336 378,705 1,893.64 4,164.83 ที่มา : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะเห็นว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 9101 ให้ความสนใจเข้าร่วมต่อโครงการด้านการประมงอันดับแรก รองลงมา คือ โครงการด้านการเลี้ยงสัตว์ โครงการด้านการผลิตพืชอายุสั้น โครงการการผลิตอาหารฯ และโครงการการทำเกษตรแบบผสมผสาน ตามลำดับ ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมในทุกด้าน โดยเกษตรกรสามารถนำไปขยายผลต่อได้ด้วยตนเอง อย่างเช่น โครงการการผลิตอาหาร แปรรูปผลผลิตฯ เนื่องจากชุมชนสามารถนำผลผลิตเป็นอาหารหรือแปรรูป เช่น การแปรรูปข้าว หมูแดดเดียว ทองม้วน และ พริกแกง ทำให้เกษตรกรมีบริโภคในครัวเรือน และยังเสริมสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดจากการหมุนเวียนของเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกชุมชน อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะแรกของโครงการ อาจยังไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก แต่หลังจากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะยังเกิดผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจอีกเป็นระยะเวลาหลายปี จากกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งมีการซื้อขายผลผลิตมากขึ้นด้วย ซึ่งนับว่าเกิดประโยชน์ทั้งด้านสังคม ในการสร้างความสามัคคีของสมาชิกในกลุ่ม เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรมีอาหารบริโภค ลดรายจ่าย และมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิต และเกิดความยั่งยืนของโครงการ จากการตั้งกองทุนในชุมชนบริหารจัดการ และระยะยาวสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ สร้างรายได้หมุนเวียนแก่เกษตรกรต่อเนื่อง ข่าว: ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร
แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ