ครึ่งปีแรก 48 บริษัทจดทะเบียนกำไรรวมเกือบ 2.5 แสนล้าน ขยายตัวร้อยละ 22

ข่าวทั่วไป Wednesday August 17, 2005 13:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บริษัทจดทะเบียนในตลท. และ mai ประกาศผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2548 มีผลกำไรสุทธิรวม 248,884 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากงวดเดียวกันของปีก่อน กลุ่มทรัพยากร ธุรกิจการเงิน และอสังหาริมทรัพย์และ ก่อสร้างทำกำไรสุทธิรวมสูงสุด 3 อันดับแรก ขณะที่กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นสูงสุดเกือบร้อยละ 90
นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัท จดทะเบียนประจำงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ว่า บริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้นำส่งงบการเงินแล้วจำนวน 458 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 95 จากบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 480 บริษัท
“จากงบการเงินงวด 6 เดือนปี 2548 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่นำส่งงบแล้ว 432 บริษัทจากทั้งหมด 454 บริษัท มียอดขายรวม 2,147,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิรวม 248,333 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 203,951 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22 โดยมีบริษัทที่ประกาศผลกำไรสุทธิ 369 แห่ง (ร้อยละ 85)
สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ได้นำส่งงบการเงินงวด 6 เดือนครบทั้ง 26 บริษัท โดยมียอดขายรวม 8,678 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิรวม 551 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 467 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ในจำนวนนี้ มีบริษัทที่ประกาศผลกำไรสุทธิ 22 แห่ง” นายสุทธิชัยกล่าว
บริษัทในกลุ่ม SET50 มีกำไรสุทธิ 195,934 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 มีกำไรขั้นต้นร้อยละ 24 และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
ส่วนบริษัทในกลุ่ม SET100 มีกำไรสุทธิ 207,674 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 17
รองผู้จัดการกล่าวต่อไปว่า “บริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรกคือบมจ. ปตท. (PTT) บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และบมจ.ไทยออยล์ (TOP)
1. PTT มีกำไรสุทธิรวม 44,351 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.27 จาก 26,357 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ราคาและการใช้ปิโตรเลียมโดยรวมของประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งยอดขายเพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาขายและปริมาณการขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท
2. SCC มีกำไรสุทธิรวม 18,718 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.98 จาก 15,097 ล้านบาทในงวดเดียวกันปี 2547 เนื่องจากธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งทำยอดขายร้อยละ 38.71 ของยอดขายรวมของ SCC มีผลประกอบการที่ดี
3. PTTEP มีกำไรสุทธิรวม 9,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.28 จาก 6,655 ล้านบาทในงวดเดียวกันปี 2547 เนื่องจากราคาและปริมาณการขายผลิตภัณฑ์น้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
4. ADVANC มีกำไรสุทธิรวม 9,538 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.32 จาก 10,074 ล้านบาท เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ด้วยผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากการให้บริการลดลง นอกจากนี้ ADVANC ยังมีการลงทุนในอุปกรณ์เครือข่ายและค่าใช้จ่ายด้านการตลาดเพิ่มขึ้น
5. TOP มีกำไรสุทธิรวม 7,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.88 จาก 6,633 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นหลังจากหยุดซ่อมบำรุงในไตรมาสก่อน รวมทั้งราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีกำไรจากการกลั่นขั้นต้นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทย่อยยังปรับตัวดีขึ้นด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) จำนวน 397 บริษัท ไม่รวมบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงาน (REHABCO) มีกำไรสุทธิรวม 238,855 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม โดยเรียงลำดับตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุดได้ ดังนี้
1. กลุ่มทรัพยากร (หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่) มีกำไรสุทธิ 76,087 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เนื่องจากหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 โดยยังคงมีอัตรากำไรขั้นต้นคงตัวที่ประมาณร้อยละ 17 อันเป็นผลจากปริมาณการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
2. กลุ่มธุรกิจการเงิน (หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต) มีกำไรสุทธิ 58,248 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24 ของกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนรวม หรือมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 7
โดยธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 49,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ในขณะที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลงร้อยละ 7
บริษัทจดทะเบียนในหมวดธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) 21 บริษัท ส่งงบการเงินจำนวน 15 บริษัท มีกำไรสุทธิ 4,674 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 โดยกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์มีกำไร 1,154 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 38 ตามภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์
หมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิรวม 1,728 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เนื่องจากรายได้และกำไรจากการลงทุนลดลงร้อยละ 16 อย่างไรก็ดี กำไรจากการประกันภัยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24
3. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (หมวดวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์) มีกำไรสุทธิ 34,732 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 เป็นผลจากราคาของวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 แต่ยังคงมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 29
4. กลุ่มบริการ (หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ พาณิชย์ โรงแรมและบริการท่องเที่ยว บันเทิงและสันทนาการ การแพทย์ การพิมพ์และสิ่งพิมพ์ และบริการเฉพาะทาง) มีกำไรสุทธิ 20,826 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 อัตรากำไรขั้นต้นจึงลดลงจากร้อยละ 24 เหลือร้อยละ 21 บริษัทส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะบริษัทในหมวดขนส่งและโลจิสติกส์
5. กลุ่มเทคโนโลยี (หมวดสื่อสาร หมวดชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์) มีกำไรสุทธิ 20,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงของกลุ่มอุตสาหกรรมและต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
6. กลุ่มวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม (หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์ กระดาษและวัสดุการพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และเครื่องมือและเครื่องจักร) มีกำไรสุทธิ 16,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 โดยทุกบริษัทในหมวดอุตสาหกรรมดังกล่าวมีกำไรลดลงทั้งหมด ยกเว้นหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทในหมวดดังกล่าวยังคงมีความต้องการในตลาดสูง
7. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร) มีกำไรสุทธิ 9,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 89 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของบริษัทในหมวดอุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากลูกค้ามีความเชื่อมั่นในสินค้าของบริษัทเพิ่มขึ้นภายหลังจากสถานการณ์ไข้หวัดนกคลี่คลาย
8. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (หมวดแฟชั่น ของใช้ในครัวเรือน และของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์) มีกำไรสุทธิ 3,047 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 19.7 เหลือร้อยละ 18.9 ในขณะที่มีการเติบโตของยอดขายร้อยละ 4.5
“สำหรับบริษัทจดทะเบียนหมวด REHABCO จำนวน 45 บริษัท นำส่งงบการเงินจำนวน 35 บริษัท มีผลกำไรสุทธิ 21บริษัท และขาดทุนสุทธิ 14 บริษัท โดยมีกำไรสุทธิรวม 9,478 ล้านบาทเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 271 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 125” นายสุทธิชัยกล่าว
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049
วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ