วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จัดงาน “ก้าวไปด้วยกัน...สู่อุตสาหกรรม 4.0”

ข่าวทั่วไป Monday June 25, 2018 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--Brainasia Communication วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท.ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัด อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ก้าวไปด้วยกัน...สู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยมี รศ.ดำรงค์ ทวีแสงสกุลไทยและรศ.ดร. ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย, ดร.ดั้นดุสิต โปราณานนท์, วันชัย จิรพฤกษ์ภิญโญ, ชยุตม์ กฤษอร่ามเรืองและทรงพล เทอดรัตนเกียรติ เป็นวิทยากร ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่คุณภาพ ประสิทธิภาพ เสริมศักยภาพในการแข่งขัน สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนสนองตอบความต้องการของตลาดที่แตกต่าง ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นหนึ่งในกลไกร่วมขับเคลื่อนสู่เป้าหมายอนาคตไทยแลนด์ 4.0 โดยมีผู้ประกอบการและบุคลากรในวงการอุตสาหกรรมเข้าร่วมงาน ณ.ห้องประชุม อาคาร วสท. รามคำแหง 39 ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. กล่าวว่า อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) เป็นการปฎิรูปอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เน้นนวัตกรรม การปรับเปลี่ยนใหม่ๆ ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง รองรับความต้องการใหม่ๆ ที่ตลาดและสังคมคาดหวังในปัจจุบันและอนาคต หากย้อนกลับไปในอดีต การฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกอุตสาหกรรม 1.0 ยุคการผลิตด้วยเครื่องจักรกลไอน้ำทุ่นแรงงานคน/สัตว์ จากนั้นเป็นอุตสาหกรรม 2.0 ยุคแห่งการผลิตแบบ ที่สินค้าผลิตเหมือนกันในปริมาณมาก การคิดค้นมอเตอร์ไฟฟ้า/พลังงานไฟฟ้า เพื่อทดแทนเครื่องจักรกลไอน้ำผลิตสินค้าที่เร็วขึ้น ต่อมาพัฒนาเป็น อุตสาหกรรม 3.0 ยุคเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ดิจิทัล/หุ่นยนต์ การผลิตทุกอย่างเริ่มอัตโนมัติมากขึ้นทำงานซ้ำๆ ได้ดี มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานทดแทนแรงงานมนุษย์ จนมาถึงโลกยุคดิจิทัล ซึ่งตัวที่ผลักดันได้ชัดเจนที่สุดให้เกิด 4.0 ขึ้นมาคือ อินเทอร์เน็ตและคลาวด์ เร่งให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 การผลิตด้วยการนำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้ามาการเชื่อมโยงข้อมูลการผลิตระหว่างเครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆละเอียดขึ้นแบบที่มนุษย์ไมสามารถผลิตได้ เป็นการรวมพลังระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลควบคุมเครื่องจักรให้เครื่องจักรสื่อสารข้อมูลกันเอง เทคโนโลยี 4 อย่างที่มีบทบาทสูง ได้แก่ เทคโนโลยีอัตโนมัติ-หุ่นยนต์, เทคโนโลยีดิจิทัล,เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีเคมี ประเภทของการสร้างนวัตกรรม ประกอบด้วย นวัตกรรมผลิตภัณฑ์,นวัตกรรมการผลิตและระบบนวัตกรรม โดยมีระดับของนวัตกรรม มีทั้งนวัตกรรมบางส่วนและนวัตกรรมทุกส่วน การพัฒนานวัตกรรมเริ่มจากการศึกษาวิเคราะห์แสวงหาหัวข้อเป็นโครงการ, ออกแบบพัฒนาและทดลองต้นแบบ, ปฎิบัติการสู่นวัตกรรมนำมาสู่ผลลัพธ์จนเป็นสินทรัพย์ใหม่ ในด้านคุณค่าและผลประโยชน์ของนวัตกรรมจะนำมาซึ่งมูลค่าธุรกิจเชิงพาณิชย์การตลาด คุณค่าต่อสังคมการยอมรับและสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศชาติได้มีการทำแบบทดสอบ ช่องทางการพัฒนานวัตกรรมและและการประเมินผลการพัฒนา รศ.ดำรงค์ ทวีแสงสกุลไทย กล่าวว่า สำหรับ IMS CEN 16555 (Innovation Management System: IMS) เป็นระบบบริหารจัดการนวัตกรรม ในมาตรฐานของยุโรป CEN 16555 ได้ให้คำนิยามและความหมายของนวัตกรรม (Innovation) ว่าเป็น การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กระบวนการใหม่ วิธีการจัดการองค์กรแบบใหม่ทั้งในทางธุรกิจ และวิธีการทางการตลาด พร้อมไปกับการกำหนดกระบวนการเพื่อที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ระบบการจัดการนวัตกรรมตามมาตรฐานของยุโรปนี้ เป็นแนวทางที่ทำให้ทุกคนในองค์กรจะต้อง ทำความเข้าใจกับบริบทขององค์กร จัดทำระบบการนำและการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูง การวางแผนเพื่อให้เกิดความสำเร็จด้านนวัตกรรม การบ่งชี้และผลักดันปัจจัยขับเคลื่อนและปัจจัยเกื้อหนุนทางนวัตกรรม การพัฒนากระบวนการจัดการเชิงนวัตกรรม การประเมินและการปรับปรุงสมรรถนะของระบบการจัดการนวัตกรรม ทำความเข้าใจถึงเทคนิควิธีการและการใช้มันในการจัดการนวัตกรรม นอกจากนี้ยังมีเวิร์คช๊อปการพัฒนาและประเมิน IMS ตลอดจนศึกษากรณีตัวอย่างจากนวัตกรรมของ CPF การพัฒนาคนและปรับทักษะของแรงงานให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศที่จริงจังกับการก้าวไปสู่ยุค 4.0 ต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงพยายามสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะของแรงงาน (Skill Development Ecosystem) เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานมีช่องทางในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองตามที่ต้องการ ซึ่งเกิดจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ