ก.แรงงาน ฝึกอาชีพในเรือนจำ สร้างชีวิตใหม่ผู้ต้องขัง

ข่าวทั่วไป Monday June 25, 2018 17:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก.แรงงาน ฝึกผู้ต้องขังกว่า 5 พันคนในเรือนจำ เดินหน้าสร้างชีวิตใหม่ นครพนม จัดเต็ม 101 คน นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าหลังจาก พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กพร. กรมการจัดหางาน ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการดำเนินการ "โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง" โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรมวิชาชีพ จริยธรรม ให้โอกาสกับผู้เคยกระทำผิดปรับปรุงตนเอง ซึ่งมีเป้าหมาย 37,000 คน ในส่วนของกพร. หน่วยงานในสังกัดสถาบัน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ จัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในเรือนจำและทัณฑสถานในจังหวัดต่างๆ โดยกลุ่มผู้ต้องขังเป็นหนึ่งกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ที่จะต้องมีการฝึกอาชีพในสาขาช่างอุตสาหกรรม การประกอบอาชีพอิสระ และกลุ่มอาชีพธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้คนกลุ่มเหล่านี้มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในปี 2561 ดำเนินการแล้ว 5,086 คน โดยเน้นสาขาขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงสาขาที่สามารถนำไปประกอบอาชีพส่วนตัวได้ด้วย อาทิ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างก่ออิฐฉาบปูน การทำขนมไทย การนวดตอกเส้นเพื่อสุขภาพ เป็นต้น จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมระบุว่ามีผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานจำนวน 346,470 คน บางส่วนเป็นกำลังแรงงานและมีศักยภาพในการทำงาน สามารถนำมาทดแทนในสาขาอาชีพที่กำลังขาดแคลนได้ เป็นการสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ นายสุชัย พงศ์พัฒนพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม (สนพ.นครพนม) กล่าวว่า สนพ.นครพนม ได้ร่วมมือกับเรือนจำจังหวัดนครพนม ฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน ตามโครงดังกล่าวให้กับผู้ต้องขัง จำนวน 5 สาขา ได้แก่ ช่างปูกระเบื้อง ช่างซ่อมเครื่องยนต์ขนาดเล็กเพื่อการเกษตร ช่างซ่อมอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม นวดไทยและนวดไทยเพื่อสุขภาพ เป็นหลักสูตรระยะยาว มีระยะเวลาการฝึกอบรมตั้งแต่ 309-640 ชั่วโมง ผู้ต้องขังจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ต่อยอดในการสมัครงานหรือประกอบอาชีพส่วนตัวได้หลังจากพ้นโทษ ซึ่งมีผู้ต้องขังเข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 101 คน ร่วมกับกรมการจัดหางาน ช่วยการมีงานทำ มีรายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ