ปวดหลังแบบไหน? เสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ข่าวทั่วไป Tuesday June 26, 2018 11:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--โรงพยาบาลรามคำแหง หลายคนคงเคยมีอาการปวดหลังกันมาบ้าง แต่ถ้ามีอาการปวดหลังบ่อยๆ และปวดร้าวลงขาแล้วละก็ ควรนึกถึงโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สาเหตุเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังถูกทำลายจนเสียหาย จากการได้รับบาดเจ็บหรือจากความเสื่อมของกระดูก ส่งผลให้หมอนรองกระดูกแตกและกระดูกอ่อนส่วนที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกโผล่ออกมาแล้วไปกดทับเส้นประสาท ทำให้ปวดหลังร้าวลงขาร่วมกับอาการชา อ่อนแรง หรือเจ็บบริเวณแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ อย่าเพิ่งคิดว่าโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จะเกิดขึ้นได้แค่กับคนสูงอายุเท่านั้นนะครับ เดี๋ยวนี้อายุแค่ 30 ต้นๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้แล้ว!! สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชิวิตของเราแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถ การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้งานหลังที่ไม่ถูกต้อง การยกของหนัก รวมถึงน้ำหนักตัวที่มากเกินไป การสูบบุหรี่ ความเสื่อมของกระดูกตามวัยและพันธุกรรม ส่วนใหญ่อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะค่อยๆ ดีขึ้น หากได้รับการพักผ่อน ออกกำลังกายและรับประทานยา การรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง อาการและตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกเคลื่อน แต่ถ้าเป็นประเภทเรื้อรังเส้นประสาทบวมไม่ยุบนานเกิน 6 สัปดาห์ อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีการการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละรายและการวินิจฉัยของแพทย์ครับ การป้องกันสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ปวดหลัง และเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังและช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและยืดหยุ่น การจัดระเบียบท่าทางร่างกายให้เหมาะสม เช่น การนั่ง การยกของ การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจะช่วยลดแรงกดทับกระดูกสันหลังได้ และที่สำคัญควรงดสูบบุหรี่ เพราะทำให้กระดูกสันหลังสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมเร็วกว่าปกตินั่นเองครับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ