การรับรู้ของประชาชนต่อกิจการน้ำมันและก๊าซของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 29, 2018 15:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--IFD Survey ทุกครั้งที่มีการปรับราคาน้ำมันและก๊าซ ทำให้มีผลกระทบต่อค่าครองชีพและกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งด้านการอุปโภคบริโภค อีกทั้งราคาโดยสารของระบบขนส่งมวลชน ก็ปรับราคาขึ้นตามไปด้วย ทำให้ประชาชนร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนอยู่เสมอ คำถามที่น่าสนใจคือประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับราคาน้ำมันหรือก๊าซ และคิดเห็นอย่างไรกับ ปตท. องค์กรผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมัน ที่มักถูกกล่าวถึงในด้านลบเกี่ยวกับการเอาเปรียบเรื่องราคาน้ำมัน IFD Survey ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,175 คน ด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างทุกภูมิภาคทั่วประเทศเกี่ยวกับการรับรู้ของประชาชนต่อกิจการน้ำมันและก๊าซของไทย ผลสำรวจพบว่า ประชาชนคิดว่าถูกเอาเปรียบเรื่องราคาน้ำมันหรือก๊าซที่ใช้อยู่ที่ร้อยละ 90.6 โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเดือดร้อนในระดับพอควรอยู่ที่ร้อยละ 60.9 และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนระดับมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 29.8 ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 58.6 คิดว่าประเทศไทยมีบ่อน้ำมันอยู่จริง ขณะที่ร้อยละ 33.6 ยังไม่ทราบแน่ชัด อีกร้อยละ 7.8 คิดว่าไทยไม่มีบ่อน้ำมัน และเมื่อสอบถามข้อเสนอแนะของประชาชนเกี่ยวกับ ปตท. ว่าควรนำกลับมาให้รัฐเป็นเจ้าของ 100% เหมือนไฟฟ้า ประปา หรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 69.5 เห็นว่า ปตท. ควรกลับมาเป็นของรัฐ 100% ส่วนอีกร้อยละ 33.2 เห็นว่าไม่ควรให้ ปตท. กลับมาเป็นของรัฐ 100% โดยประชาชนที่เห็นควร ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.5 ให้เหตุผลว่า ราคาน้ำมันและก๊าซจะได้ไม่แพง ร้อยละ 28.8 เห็นว่าเพื่อเอากำไรกลับสู่รัฐ และร้อยละ14.5 เห็นว่าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ขณะที่ประชาชนที่เห็นว่าไม่ควร ส่วนใหญ่ร้อยละ 48.3 ให้เหตุผลว่า ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐไม่ดีเท่าเอกชน ร้อยละ 24.1 บอกว่าแบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว ร้อยละ 13.5 เห็นว่าเพื่อจะได้แข่งขันกับต่างประเทศได้ และร้อยละ 11.2 เห็นว่าทำให้สามารถระดมเงินทุนจากภาคเอกชนได้มากขึ้น จากผลการสำรวจ ทำให้เห็นว่าเมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้นทุกครั้ง จะส่งผลกระทบทำให้ประชาชนเดือดร้อนในด้านความเป็นอยู่ ภาครัฐจึงควรให้ความเอาใจใส่และกำหนดมาตรการเกี่ยวกับราคาน้ำมันและก๊าซให้มีความเหมาะสม ทันท่วงที และเป็นระบบ รวมถึงช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบที่น้อยลง ในระยะยาว ภาครัฐควรนำความคิดเห็นของประชาชนไปพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงอื่นๆ เพื่อดำเนินการบางสิ่งบางอย่างในประเด็นเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างในอุตสาหกรรมพลังงาน จนทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินงานของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ