สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เดินหน้าจัดโครงการรักสัตว์ในโรงเรียน ร่วมกับคณะลูกเสือโรงเรียนอัสสัมชัญระยอง กว่า 700 คน “บูรณาการหลักสูตรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์สู่การปฏิบัติจริง”

ข่าวทั่วไป Monday July 9, 2018 13:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)จัดโครงการรักสัตว์ในโรงเรียนภายใต้กิจกรรม "การบูรณาการหลักสูตรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์สู่การปฏิบัติจริง" โดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯ นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์และกรรมการราชบัณฑิต นายอมร ชุมศรี ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติและอนุกรรมการลูกเสือฝ่ายพัฒนาบุคลากรในคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ พร้อมด้วยคุณมังกร-ปภาวิน หงษ์ขจร ทูตสันถวไมตรี TSPCA คุณแซนดี้-ชลิดา กล่ำปาน ดารานักแสดงช่อง 8 บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) คณะผู้บริหาร ครูอาจารย์ และลูกเสือสามัญ กว่า 700 คน เข้าร่วมกิจกรรม ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯ เปิดเผยว่า สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ก่อตั้งขึ้นมากว่า 24 ปี เพื่อรณรงค์หาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทารุณสัตว์โดยสันติวิธี ด้วยการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเสริมสร้างจิตสำนึกแห่งความเมตตาให้แก่สาธารณชนและเยาวชนโดยทั่วไปให้มีส่วนร่วมในการสอดส่องป้องกันการทารุณสัตว์และมีบทบาทในการรณรงค์แก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมี คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ เป็นนายกสมาคมฯ โครงการรักสัตว์ในโรงเรียนเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญของสมาคมฯ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2549 สมาคมฯ ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยคุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น นำกิจกรรมโครงการ "รักสัตว์ในโรงเรียน" ออกเผยแพร่ตามโรงเรียนต่างๆ ที่สังกัดภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนัก เห็นคุณค่า เกิดความเมตตากรุณาและปฏิบัติต่อสัตว์นั้นได้อย่างถูกต้อง 2.เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการศึกษา ทั้งภาครัฐ เอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสอดส่องป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี 3.เพื่อช่วยสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติให้มีความมั่นคงยั่งยืนต่อไป โครงการรักสัตว์ในโรงเรียนครั้งนี้จัดภายใต้กิจกรรม "การบูรณาการหลักสูตรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์สู่การปฏิบัติจริง" สืบเนื่องจากสมาคมฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อบูรณาการเกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิภาพและป้องกันการทารุณกรรมสัตว์เข้าสู่ระบบการเรียนการสอนลูกเสือในระดับต่างๆ ด้วยเล็งเห็นประโยชน์และหลักการสำคัญของกระบวนการลูกเสือที่มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนได้รับการฝึกอบรมให้มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ ภายใต้กฎลูกเสือข้อ ๖ "ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์" โดยได้รับเกียรติจาก นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสัตว์ภาพสัตว์ และกรรมการราชบัณฑิต บรรยายพิเศษเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ อาจารย์อมร ชุมศรี ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติและอนุกรรมการลูกเสือฝ่ายพัฒนาบุคลากรในคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ บรรยายพิเศษเรื่องลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ และคุณมังกร-ปภาวิน หงษ์ขจร ทูตสันถวไมตรี TSPCA และคุณแซนดี้-ชลิดา กล่ำปาน ดารานักแสดงช่อง 8 บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) รวมถึงคณะผู้บริหาร ครูอาจารย์และลูกเสือโรงเรียนอัสสัมชัญระยอง เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์และฐานการเรียนรู้อิสรภาพ 5 ประการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลี้ยงและปฏิบัติต่อสัตว์ จากฐาน 5 ฐาน ได้แก่ 1.อิสระจากความหิวกระหาย (Freedom from hunger and thirst) 2.อิสระจากความไม่สบายกาย (Freedom from discomfort) 3.อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย (Freedom from pain injury and disease) 4.อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ (Freedom from fear and distress) 5.อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behavior) สมาคมฯ มุ่งหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะสามารถสร้างจิตสำนึกและตระหนักในการปฏิบัติตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ อีกทั้งโครงการลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์สามารถขับเคลื่อนให้เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมกิจการลูกเสือให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากลต่อไป
แท็ก ปรัชญา   เสือ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ