ปส. ผสานความร่วมมือสหรัฐอเมริกา ย้ำมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัย รองรับหากก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ในอนาคต

ข่าวทั่วไป Monday July 23, 2018 15:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกา (United States Nuclear Regulatory Commission : U.S.NRC) จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับประกันคุณภาพด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ วันนี้ (๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑) นางวราภรณ์ วัชรสุรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Practical Basics of Civil/Structural, Welding and Non-destructive Examination, Mechanical, and Electrical and Nuclear Quality ซึ่งจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ ๒๓ - ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ณ ปส. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจขั้นตอนการกำกับดูแลความปลอดภัย และเทคนิคต่าง ๆ ของกระบวนการตรวจสอบสถานประกอบการการทางนิวเคลียร์ เพื่อรองรับการก่อสร้างสถานประกอบการณ์ทางนิวเคลียร์ในอนาคตด้วยระบบการประกันคุณภาพด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ที่ได้มาตรฐานตามหลักสากล โดยมีผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ International Regulatory Development Partnership (IRDP) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บรรยายให้ความรู้แก่ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทย จำนวนกว่า ๓๐ คน อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และบุคลากรของ ปส. นางวราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า IRDP เป็นโครงการเครือข่ายภายใต้การสนับสนุนของ U.S.NRC จัดตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือและความรู้แก่ประเทศสมาชิกในด้านการพัฒนาการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ซึ่งประเทศไทยโดย ปส. หนึ่งในประเทศสมาชิกทั่วโลก จำนวน ๑๔ ประเทศ ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก IRDP ด้วยดีเสมอมา เช่น เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา IRDP ได้ร่วมมือกับ ปส. จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Construction and Vender Inspections ให้กับบุคลากรของ ปส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนา เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการตรวจสอบในระหว่างการก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อเนื่องมาจากการขออนุญาตสถานที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์โดยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศไทย ในการส่งเสริมและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ