ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง หลังอุปทานขาดหายไป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 31, 2018 12:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--ไทยออยล์ บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67 – 72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 71 - 76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (30 ก.ค. – 3 ส.ค. 61) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดที่ช่องแคบบับเอลมันเดบ(Bab al-Mandeb strait) ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียประกาศหยุดการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบดังกล่าวชั่วคราว นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาที่คาดว่าจะปรับลดลง หลังสภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น หลังอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับลดลง ประกอบกับ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: - จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดที่ช่องแคบบับเอลมันเดบ หลังกองกำลังกบฎฮูตีในเยเมนเข้าโจมตีเรือขนส่งน้ำมัน 2 ลำ ในวันพุธที่ผ่านมา ส่งผลให้นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียแถลงการณ์ ยุติการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดจะคลี่คลาย - กำลังการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาพุ่งไปแตะร้อยละ 1,000,000 ในปี 2561 ซึ่งหมายความว่าเวเนซุเอลาจะเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อสูง (Hyperinflation) และจะทำลายสถิติอัตราเงินเฟ้อสูงที่รุนแรงที่สุดในยุคประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสมัยใหม่ ทั้งนี้เศรษฐกิจที่พังทลายของเวเนซุเอลาส่งผลกดดันต่อกำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศ โดยกำลังการผลิตเวเนซุเอลาในเดือนมิ.ย. ยืนอยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในปีที่ผ่านมาที่ผลิตอยู่ราว 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน - ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศที่ปรับลดลง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ก.ค. 61 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 93.8 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากสูงสุดที่ร้อยละ 97.5 อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดาที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ในแคนาดา กำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน มีแนวโน้มกลับมาผลิตได้ตามปกติในเดือนส.ค. - ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังในการประชุมช่วงปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมากลุ่มผู้ผลิตตกลงที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากเวเนซุเอลา และอิหร่าน ซึ่งล่าสุดซาอุดิอาระเบียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศในเดือนมิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นราว 458,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 10.488 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ รัสเซียปรับเพิ่มกำลังการผลิตต่อเนื่องแตะระดับเฉลี่ย 11.215 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนก.ค. 61 - ติดตามสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกชนิดรวมมูลค่ากว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสงครามการค้าครั้งนี้คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและกดดันความต้องการใช้น้ำมันโลก - ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2 ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน อัตราการว่างงานยูโรโซน การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ และอัตราการว่างงานสหรัฐฯ สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 – 27 ก.ค. 61) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงราว 6.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการประท้วงของคนงานที่แท่นขุดเจาะของประเทศอังกฤษ ซึ่งกระทบกับการผลิตน้ำมันดิบราว 50,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลของตลาดต่อภาวะอุปทานล้นตลาด หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก นำโดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซียปรับเพิ่มกำลังการผลิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ