ปภ.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการค้นหา กู้ภัย และช่วยเหลือผู้สูญหาย บริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 14, 2018 09:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review :ARR) กรณีการค้นหา กู้ภัย และช่วยเหลือผู้สูญหายบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 15 – 16 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรม เอส. ดี. อเวนิว กรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการสาธารณภัย สำหรับเป็นต้นแบบการกู้วิกฤตภัย และการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงภัยของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนนำองค์ความรู้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวมาใช้ในการสร้างองค์ความตระหนักรู้ และปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในสังคมไทยต่อไป นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์มีผู้สูญหายบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกในการกู้ภัยในถ้ำที่มีน้ำท่วมสูงและมีความซับซ้อนมาก รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเวทีถอดบทเรียนการปฏิบัติการค้นหา กู้ภัย และช่วยเหลือผู้สูญหาย บริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน ในวันที่ 15 – 16 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรม เอส. ดี. อเวนิว กรุงเทพมหานคร โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานพลเรือน หน่วยทหาร มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล และประชาชนจิตอาสา จำนวน 80 หน่วยงาน รวมจำนวน 500 คน เข้าร่วมเสวนาถอดบทเรียนฯ ตามกลุ่มภารกิจ ภายใต้โครงสร้างศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด แยกเป็น ศูนย์ประสานการปฏิบัติ ทำหน้าที่เชื่อมโยงการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ร่วม ทำหน้าที่ประสานและให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อสาธารณชน ส่วนปฏิบัติการ ทำหน้าที่ปฏิบัติการค้นหาภายในและบริเวณโดยรอบถ้ำ รวมถึงพร่องน้ำ ระบายน้ำ และเบี่ยงเส้นทางน้ำ ส่วนอำนวยการ ทำหน้าที่ประสานสั่งการ และเชื่อมโยงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ และส่วนสนับสนุน ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการ ทั้งในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ การจัดสถานที่ การสื่อสาร การแพทย์และพยาบาล และโรงครัวสนาม ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้นำคิดเห็นและข้อเสนอแนะ มาวิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน รวมถึงกำหนดแนวทางการจัดการสาธารณภัย สำหรับเป็นต้นแบบการกู้วิกฤตภัย และการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงภัยของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนนำองค์ความรู้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวมาใช้ในการสร้างองค์ความตระหนักรู้ และปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในสังคมไทยต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ