วิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม จับมือ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ MOU ร่วมพัฒนานักศึกษา บุคลากรสู่ความเป็นเลิศด้านงานวิจัยและการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมด้านอาคารอัจฉริยะ

ข่าวทั่วไป Thursday August 16, 2018 13:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผนึกกำลัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย MOU ร่วมมือทางวิชาการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาการ พัฒนานักศึกษาและบุคลากร งานวิจัย และการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมด้านอาคารอัจฉริยะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม(ที่3จากขวา) และ ดร.เด่นชัย วรเดชจำเริญ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ขวาสุด) ) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) กับ รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ที่4จากซ้าย) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ สิงหถนัดกิจ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ที่2จากซ้าย) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาการ การพัฒนานักศึกษาและบุคลากร การพัฒนางานวิจัย และการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมด้านอาคารอัจฉริยะ ณ ห้องศูนย์รวมใจ 1 อาคาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ด้วยเจตนารมณ์ของความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จึงก่อให้เกิดการลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการร่วมกันในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมมือในการดำเนินงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีอาคารอัจฉริยะเพื่อตอบสนองต่อนโยบายประเทศด้านการประหยัดพลังงานและเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในนโยบายประเทศไทย 4.0 นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาระบบอาคารอัจฉริยะ โดยอาศัยองค์ความรู้และความถนัดด้านระบบอาคารจากผู้เชี่ยวชาญของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผนวกกับองค์ความรู้และความถนัดด้านการวิเคราะห์การถ่ายเทพลังงานความร้อนในอาคารจากผู้เชี่ยวชาญของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้เชี่ยวชาญจากวิศวฯ ม.ศรีปทุม เป็นผู้รับผิดชอบด้านระบบควบคุมอาคาร และผู้เชี่ยวชาญจากวิศวฯ จุฬาฯ เป็นผู้รับผิดชอบด้านการวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองทางด้านพลังงาน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในโลกของธุรกิจ Sharing Economy คือเทรนของโลกใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยการแบ่งปันทรัพยากร ความคิดเห็น ประสบการณ์ และความรู้ วงการวิชาการก็เช่นกัน (Sharing Academic) การแบ่งปันทางวิชาการ จึงเกิดขึ้นที่นี่ เพื่อที่จะร่วมสร้างความรู้ประสบการณ์ ร่วมพัฒนานวัตกรรม และร่วมกันถ่ายทอดออกไปสู่ความเป็นเลิศต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิศ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ